Monday, May 31, 2010

NEWTYPE @ Pecha Kucha Night BKK #6

Pecha Kucha Night Bangkok ครั้งที่ 6 /
10 ตุลาคม 2552 ที่สยาม ดิสคัฟเวอรี่ เซนเตอร์
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ "ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย"


เพะชะ คุชะ ไนท์ ครั้งนี้มาพร้อมกับหัวข้อ "graphic design = . . ." ซึ่งปกติก่อนนี้
จะไม่ค่อยมีโจทย์ และสามารถสรุปความจากพี่อาร์ต สุรัติ โตมรศักดิ์ แห่ง try2benice ได้ว่า
"คืนละ 20 คน คนละ 20 ภาพ ภาพละ 20 วินาที มีสาระหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น" :-.)

แต่ในเมื่อมันมาพร้อมหัวข้อนี้ และรอบนี้เป็นนักออกแบบกราฟิกเกือบหมด
เลยคิดว่าน่าจะพูดถึงการออกแบบกราฟิกโดยใช้วิธีการออกแบบไทป์ดีไซน์ดีกว่า
เริ่มด้วยสไลด์ที่หนึ่ง :)


1. โดยส่วนตัวเชื่อว่า สิ่งที่อยู่ในองค์ประกอบสำคัญของกราฟิกดีไซน์คือ ข้อมูล
ที่ถูกส่งถ่ายออกไปยังผู้รับที่ผู้ส่งต้องการให้พบเห็นในสื่อที่ส่งถ่ายผ่านไป
ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะมีความหมายหรือไม่ หรือข้อมูลนั้นอาจมีแค่ความเชื่อ ความรู้สึก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่า มีอะไรบ้างอย่างถูกถ่ายทอดส่งต่อออกไป


2. ทำให้นึกถึงแบบตัวอักษรหนึ่งคือ Baskerville ที่ถูกออกแบบโดย
John Baskerville เมื่อปี 1757 ประเด็นที่ทำให้นึกถึงคือ ตัวอักษร Baskerville นี้
ถูกจัดอยู่ใน Classification ที่เรียกว่า Transitional (ทางกายภาพ
เป็นแบบตัวอักษรที่ออกแบบโดยใช้เครื่องมือในการคำนวณ)


3. Transitional Classification คือ กลุ่มที่พัฒนาต่อมาจาก Old Style Classification
(แบบตัวอักษรละติน ที่มีลักษณะมาจากการเขียนมือด้วยปากกกา) เพื่อพัฒนาไปสู่
Modern Classification (แบบตัวอักษรที่อุปกรณ์การทำบล็อกตัวอักษรมีความ
ละเอียดมากขึ้น และสื่อที่ใช้ในช่วงเวลานั้นเปลี่ยนไป) บลาๆ 20 วิ แบบย่นย่อ

ที่เล่าไปในช่วงแรกคือ สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียน Typography1 ที่ผมสอนอยู่ที่
มหาวิทยาลัยกรุงเทพและสไลด์ที่ให้ดูผ่านไปก็คือ ภาพตัวอย่างที่ใช้ในชั้นเรียน
เพื่อให้ นศ. ได้ทำความรู้จักและเข้าใจ


4. หนึ่งในการเรียนรู้โครงสร้างตัวอักษร คือ การรับรู้ชุดข้อมูลหนึ่งที่บ่งบอกว่า
ตัวอักษร Baskerville มีลักษณะอย่างไร จุดเด่นคืออะไร โค้งอย่างไร
แต่ละเส้นหนาบางอย่างไร และที่สำคัญแต่ละส่วนนั้นเพื่ออะไร
ซึ่งวิธีที่จะเรียนรู้ได้เร็วและง่ายที่สุด คือ การให้นศ.แต่ละคน
ดรออิงค์ภาพตัวอักษรที่เห็นนั้น ลงในกระดาษขนาด A2


5. ผลที่ได้จากชั้นเรียนในวันนั้นคือ แบบตัวอักษร Baskerville ที่นศ. แต่ละคน
รับรู้ ข้อมูล g (lowercase) Baskerville และส่งถ่ายไปยังสมองของแต่ละคน
ซึ่งแต่ละคนนั้นก็ถ่ายทอด ข้อมูลนั้น ลงมาบนกระดาษด้วยวิธีการวาดเส้น

Ek PechaKucha Slide 06

6. ข้อมูล ที่ได้มา มีตั้งแต่เหมือนมากๆไปจนถึง. . . :) จากข้อมูลชุดเดียวกัน
สิ่งที่ผิดเพี้ยนไปมีปัจจัยมากมาย ตั้งแต่ ความตั้งใจฟังถึงที่มาที่ไปของตัวอักษรชุดนี้
ทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของหน้าตาโครงสร้างของมัน ไปจนถึง ทักษะพื้นฐาน
ในการถ่ายทอดข้อมูลชุดนี้ด้วยการวาดเส้น

Ek PechaKucha Slide 07

7. แบบตัวอักษรที่ได้มาในชั้นเรียนวันนั้น ทั้งหมด 33 ตัวอักษร g จากนศ. 33 คน
ซึ่งมีคะแนนที่ให้ไป ตั้งแต่ A ไปจนถึง D

สิ่งที่ว่ามาถึงความผิดเพี้ยนไม่ใช่ประเด็นของโปรเจคที่กำลังจะเล่าถึง
แต่มันคือ ชุดข้อมูล 33 g Baskerville ในหนึ่งวัน จากชั้นเรียนนั้น
ถ้าลองถอยกลับมามอง คิดว่ามันมีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจแฝงอยู่

Ek PechaKucha Slide 08

8. ทดลองนำข้อมูลทั้ง 33 g มาตั้งข้อกำหนดเป็นตัวแปรที่เหมาะสมและรับได้
โดยการหาค่าเฉลี่ยที่ซ้อนทับกันเพื่อหาค่าของน้ำหนักที่ได้มากกว่า 50%
เพื่อให้ได้โครงสร้างตัวอักษรใหม่ ที่เราก็ยังไม่รู้ว่าหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร
ที่มาจากการส่งถ่ายข้อมูลผ่าน 33 g

Ek PechaKucha Slide 09

9. แบบตัวอักษรและตำแหน่งจุดที่ถูกคลี่คลายและจากค่าเฉลี่ยที่ได้มา

Ek PechaKucha Slide 10

10. ต้นแบบตัวอักษร g แบบใหม่ ที่มีชุดข้อมูลใหม่ อยู่ในตัวอักษรหนึ่งตัวนี้
และวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานออกมาเป็นหัวข้อย่อยเพื่อตั้งเป็นระบบใหม่
เพื่อการออกแบบชุดตัวอักษรใหม่

Ek PechaKucha Slide 11

11. ตัวอย่างข้อมูลที่ถูกจัดการและทำความเข้าใจเพื่อให้ได้ระบบที่ง่ายต่อการตั้งต้น

Ek PechaKucha Slide 12

12. อีกหนึ่งตัวอย่างข้อมูลของตัวอักษรต้นแบบ คือ ปลายตัด และเส้นที่มีความซับซ้อน
ตัวเส้นจะไม่เชื่อมต่อกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ข้อมูลนั้นจะหายไป

Ek PechaKucha Slide 13

13. อีกหนึ่งตัวอย่างข้อมูลที่ได้มา คือ ข้อมูลที่ยาวมาก ข้อมูลนั้นจะหายไปและ
ระบบนั้นจะไม่สมดุล

Ek PechaKucha Slide 14

14. เนื่องจากแบบตัวอักษร g ต้นแบบ ที่ได้มา เป็นแบบตัวอักษรที่มาจาก
ผลข้อมูลที่ไม่ได้เกิดจากการควบคุมการออกแบบ เลยคิดว่าควรจะทำความคุ้นเคย
กับโครงสร้างนั้น โดยการพิมพ์และติดไว้ให้เห็นตลอดเวลาที่ทำการออกแบบ
ตัวอักษรอื่นในชุดเดียวกันนั้น

Ek PechaKucha Slide 15

15. a e i o u ที่ออกแบบจาก ชุดข้อมูลใหม่ ที่ได้มาจาก g
จากภาพตัวอย่าง ส่วนโครงสร้างของตัวอักษรที่ขาดหายที่เป็นไปได้
ในตัวอักษร a e i o u

Ek PechaKucha Slide 16

16. ชุดข้อมูลที่ถูกส่งถ่ายออกไปยังตัวอักษรตัวอื่นๆ
จากภาพตัวอย่าง ลักษณะปลายกลมที่เป็นไปได้ในตัวอักษรอื่นๆ

Ek PechaKucha Slide 17

17. ระบบต่างๆที่แชร์ข้อมูลย่อยหลายๆข้อที่วิเคราะห์ออกมา และส่งถ่ายไปมา
ตามแต่โครงสร้างของแต่ละตัวอักษรจะจำเป็นต้องมีอย่างไม่ยัดเยียดขัดขืนจนเกินไป

Ek PechaKucha Slide 18

18. ตัวอย่าง ตัวอักษร a-z แบบใหม่ที่ตั้งต้นจาก ชุดข้อมูล ที่ถูกส่งถ่ายไปมา

Ek PechaKucha Slide 19

19. เทียบเคียง ตัวอักษร Baskerville กับ ตัวอักษรใหม่ (ที่ยังไร้ชื่ออยู่ :)

Ek PechaKucha Slide 20

20. แสดงผลตัวอักษร ที่เป็น รูปคำ และ ประโยค ให้เห็นภาพรวม
ความคาดหวังว่า จะมีคนฟังหลับๆไปบ้าง เลยพิมพ์คำนี้ขึ้นมา
แต่ด้วยเวลาที่เร่งและรู้สึกกระชับชิดมาก ผู้ฟังวันนั้นเลยหลับไม่ทัน :)



ขอบคุณสำหรับโปรเจคสนุกๆที่ให้โอกาสในการทดลองพยายามเล่าด้วยภาพ
ให้คนฟังเข้าใจถึงการออกแบบตัวอักษรโดยใช้วิธีการเข้ากระทำในอีกรูปแบบ
วิธีการหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวอักษรที่ต่างออกไป

และขอบคุณผลงานนศ. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ในชั้นเรียน Typography1 / ปี 2550

Wednesday, May 5, 2010

KiriyaMarayart™ กิริยามารยาท


KiriyaMarayart™ กิริยามารยาท แบบตัวอักษรที่พัฒนาจากสัณฐานและความหนาเส้นของ

"ครับ" ที่เคยชนะประกวดแบบตัวอักษรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อปี 2006 เนื่องจาก

ข้อจำกัดที่ต่างออกไปจากเดิม -ของการประกวดที่ต้องการบุคลิกที่ง่ายต่อการปะทะกับกรรมการ

และดึงความแปลกแยกออกจากร้อยสองร้อยแบบตัวอักษรในพื้นที่นั้น เมื่อมาถึงจุดที่อยากจะ

นำมาขัดเกลาอีกครั้งจึงอยากลดอะไรหลายๆอย่างที่ตะโกนโหวกเหวกออกมาตอนนั้น และที่สำคัญ

ควรจะต่างจากแบบเดิมและแบบอื่นๆที่มีอยู่แล้ว**(สิ่งสำคัญสุดจริงๆ:)


**คงเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันอีกยาวสำหรับเรื่องความ ต่าง ในระดับที่ คนทั่วไป หรือ นักออกแบบสื่อสาร

หรือ นักออกแบบตัวอักษร มองออกว่ามันต่างหรือไม่ และอย่างไร สำหรับแบบตัวอักษรประเภท

เนื้อความ (Text type) แต่พื้นฐานที่สุดคือ เจตนาของผู้ออกแบบเองจะรู้ดีว่าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง

แค่ไหนในการที่จะสร้างแบบตัวอักษร ใหม่



และแล้วก็เป็นการนำมาซื่งแบบตัวอักษร กิริยา Kiriya™ ที่พัฒนาต่อมาจาก ครับ Krub™

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ลดบุคลิกและเพ่ิมบุคลิกไปในที เพิ่มความมั่นคงให้มากขึ้นแต่ยังคง

ความเป็นธรรมชาติอยู่ และแล้ว 'กิริยา'ได้ถูกลองใช้ครั้งแรกใน TSP(2007) Thailand

Script Project สำหรับการเป็นตัวเนื้อความ หลังจากนั้นถูกนำมาใช้อีกครั้งในงาน

ARTAIDS MORE TO LOVE: the art of living together (2008) อาร์ตเอดส์ ใจเขาใจเรา:

ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน ใช้ไปปรับไปเรื่อย จนมาถึงงาน Virtues of the Kingdom (2009)

บารมีแห่งแผ่นดิน ที่ทำร่วมกับ Practical Design Studio จึงนำกลับมาใช้อีกครั้ง พอดีกับ

ทาง Practical กำลังจัดงาน I am a Thai graphic designer™ อ.สันติ (พี่ติ๊ก) จึงเลือกและ

นำ 'กิริยา' ไปใช้เป็นตัวเนื้อความของโครงการนี้ด้วย และเป็นครั้งแรกของตัวอักษรชุดนี้ที่

ถูกนักออกแบบคนอื่นนำไปใช้งาน


จุดเปลี่ยนอีกครั้งของ กิริยา จากการปรับแบบไปเรื่อย จึงถึงจุดหนึ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่าง

จริงจังโดยให้ฐานล่างกลมขึ้น เนื่องจากขณะออกแบบอยู่นี้ เทอมนั้นกำลังสอน วิชา Typography

ที่ มหาวิทยาลักกรุงเทพ กับ อ.สุชาติ เลิศคชาธาร จึงได้ความเห็นมาว่า ลองปรับให้ฐานล่าง

กลมขึ้นดีมั้ย? เชื่อผู้ใหญ่หมาไม่กัด (แต่ในใจคิดว่า เอาว่ะ อาจจะขายผู้ใหญ่ได้ 55) ตอบทันที

"ได้ครับ เดี๋ยวไปลองดูเลย" การลองกับฟอร์มต่างๆที่คิดว่ามันจะสร้างอะไรบางอย่างที่มี

ผลกระทบกับคนอื่นๆมันไม่มีอะไรเสียหาย จึงเป็นที่มาของ 'กิริยา (ที่มี) มารยาท' ขึ้น



จากการที่ กิริยามารยาท ถูกใช้ในงาน บารมีแห่งแผ่นดิน จึงทำให้ต้องการตัวเขียนที่เป็นขนบเดิม

อยู่บ้างจึงทำ ร เรือ และ ธ ธง แบบคลาสสิค ไว้ให้เลือกใช้เสริม สำหรับฟังค์ชั่น Opentype ใน

Adobe CS เพียงแค่เลือกที่ข้อความหรือตัวอักษรที่ต้องการแล้วคลิ๊ก Stylistic Alternates

ร ก็จะกลายไปเป็น ร แบบคลาสสิค


ล่าสุด กิริยา™ และ กิริยามารยาท™ ถูกนำมาใช้ในงานหนังสือ เพียงความเคลื่อนไหว

Mere Movement, อนุทิน ๑๔ ตุลา และ วิถีแห่งญาณทัศน์ ของ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

และเริ่มมีการจัดจำหน่ายไปบ้างแล้วที่ คัดสรรดีมาก ดิสทรีบิวชั่น.