นิตยสาร สารกระตุ้น
No. 12 / Jan 07 / คอลัมภ์ จุดกำเนิดไอเดีย
เรียนรู้การประดิษฐ์ตัวอักษรไทยกับหนุ่มอักษร
นันทรัตน์ สันติมณีรัตน์
ไมเคิล ไรท์ นักคิดนักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ปักหลักอยู่เมืองไทย
มาเนิ่นนาน วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการที่คนไทยไม่ชอบอ่าน
หนังสือให้ฟังว่า เป็นเพราะตัวอักษรไทยมีรายละเอียดมากเกินไป
การออกแบบก็ไม่ดี และเขียนติดจึงทำให้อ่านยาก เมื่อได้ยิน
อย่างนี้แล้ว เราคนไทยที่เห็นตัวหนังสือมาตลอดชีวิตก็ถึงกลับ
ต้องมานั่งขบคิดกันว่า มันเป็นจริงอย่างที่ฝรั่งเขาพูดกันหรือเปล่า
เราก็ได้แต่ คิดกันเล่นๆ เพลินๆเพราะไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับ
ตัวอักษร (font) สักเท่าไร แต่คุณเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช
ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการออกแบบตัวอักษรมาตั้งแต่สมัยยัง
เรียนไม่จบ และมีตัวอักษรที่ออกแบบมากกว่า 20 แบบ
เขาศึกษาศาสตร์ด้านนี้ที่เรียกว่า Typography อย่างจริงจัง
และพยายามออกแบบให้ตัวอักษรไทยมีความหลากหลาย
ซึ่งงานของเขามีให้เห็นตาม สูจิบัตรงานศิลปะต่างๆหรือ
บนนิตยสารบางฉบับที่ให้ความสำคัญกับเรื่องตัวอักษร
"ผมว่าบ้านเรายังใช้พวก font ต่างๆน้อยนะครับ
ที่เห็นกันเยอะๆ ก็จะมีแค่ Cordia ตัวเดียวที่ใช้กัน
เต็มไปหมดเลย และคนที่เข้าใจหรือสนใจเรื่อง font
ก็มีน้อย" คุณเอกเล่าให้ฟังถึงความเป็นไปของ
วงการออกแบบตัวอักษรไทย
ในเมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กระทรวงพาณิชย์ และผู้ใหญ่ในวงการสิ่งพิมพ์อยาก
ให้เด็กรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของตัวอักษรไทยมากขึ้น
จึงได้จัดการประกวดออกแบบตัวอักษรขึ้นมาในชื่อ
โครงการประกวดผลงานสร้างสรรค์โปรแกรม
คอมพิวเตอร์ฟอนต์ ซึ่ง font ที่คุณเอกลักษณ์
ออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้ง 2 แบบก็เป็นที่ถูกใจ
คณะกรรมการกันถ้วนหน้า
คุณเอกลักษณ์ตั้งชื่อตัวอักษรชุดแรกอย่างกวนๆว่า "ครับ"
ซึ่งเขาอยากให้ตัวอักษรชุดนี้สื่อถึงความสุภาพ เรียบร้อย
และดูเป็นธรรมชาติ
การประกวดตัวอักษรมันก็คล้ายๆกับการประกวดนางสาวไทย
ซึ่งสวยอย่างเดียวคงไม่พอต้องมีบุคลิกที่โดดเด่นด้วย
และยิ่งต้องทำให้แตกต่างจากคนอื่นมากที่สุด
"ตัวอักษรชุดนี้บุคลิกของมันคือหัวอักษรซึ่งปกติตัวอักษรทั่วไป
จะต้องมีหัวกลมๆแต่ อยากทดลองว่าถ้าเป็นแบบนี้ผู้ใหญ่
เขาจะว่าอะไรกันหรือเปล่า แต่ก็มีอาจารย์ที่เขาชอบอยู่เหมือนกัน"
การออกแบบ font ก็เหมือนการออกแบบโลโก้ ต้องมีการร่าง
หรือสเกตช์โครงสร้างขึ้นมาก่อน ซึ่งคุณเอกลักษณ์เริ่มสเกตช์
ตัวอักษรไปทีละตัว (อย่าลืมว่าตัวอักษรไทยมี 44 ตัวนะ! )
โดยเริ่มจากตัวที่มีสัณฐานก่อน เช่น บ ใบไม้ อ อ่าง และ
เมื่อทดลองไปได้สักพัก เขาก็เกิดความคุ้นเคยและ
เรียนรู้ทิศทางในการลากเส้น
"เมื่อได้ตัวอักษรบางตัวอย่าง เช่น ข ไข่ ก็จะทำให้ได้
ตัว ช ช้าง ด้วยหรือเมื่อได้ตัว ก ไก่ ก็จะได้ตัว ถ ถุงตามมา
เพราะมันมีพื้นฐานและโครงสร้างคล้ายๆกัน"
ฟังดูแล้วเหมือนง่าย แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของขนาดตัวอักษร
การลงน้ำหนัก และจังหวะในการวาดที่ต้องเท่ากันด้วย
ซึ่งกว่าจะลงตัวกับอักษร "ครับ" คุณเอกลักษณ์ใช้เวลา
ตรวจสอบความเรียบร้อยและความถูกต้องทั้งหมดร่วม 2 เดือน
ส่วนอักษรชุด "จามรมาน" เป็นตัวอักษรที่ผู้สนับสนุนการประกวด
คือ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน อยากได้เป็นของตัวเอง ซึ่งคุณเอกลักษณ์
ออกแบบขึ้นมาเป็นตัวอาลักษณ์ตามโจทย์ที่ได้รับมา
"เริ่มจากการศึกษาว่าตัวอาลักษณ์ที่แท้จริงมาจากไหน
และมีลักษณะอย่างไร โดยการไปค้นหาเอกสารเก่าๆมาอ้างอิง
และให้รุ่นน้องที่มีลายมือไทยๆ เชยๆ ช่วยเขียนเพื่อเป็นตัวอย่างให้ดูด้วย"
บุคลิกของอักษรชุด "จามรมาน" คือปลายหางที่สบัดออก และ
หัวอักษรกับตัวเส้นที่ไม่ตรงมาก ซึ่งคุณเอกลักษณ์ต้องอาศัย
ความประณีตในการประดิษฐ์ตัวอักษรตัวนี้มากๆ เพราะถ้า
ผิดพลาดแค่เส้นหนึ่งเส้น มันอาจจะกลานเป็นตัวอักษรแบบอื่นได้
คุณเอกลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังจนเข้าใจแจ่มแจ้งอีกว่า
เขาใช้โปรแกรม Illustrator ธรรมดาในการตกแต่งตัวอักษร
และเอาทั้งหมดเข้า fontlab ซึ่งคล้ายๆกับการออกแบบกราฟิกทั่วไป
แตกต่างกันตรงที่ต้องทำทั้งหมด 44 แบบ เท่านั้นเอง
(ยังไม่ได้รวม สระ และวรรณยุกต์เลย รวมทั้งเรื่องที่สำคัญกว่า
การออกแบบตัวอักขระ คือ การทำระยะระหว่างตัวอักษรแต่ละตัว
เพราะการใช้งานของตัวอักษรไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน
เพียงตัวใดตัวหนึ่ง หรือชุดหนึ่งเท่านั้น)
งานออกแบบ font มันยากอย่างนี้นี่เอง บ้านเราจึงมีคน
ออกแบบ font น้อยเหลือเกิน แต่ถ้าใครอยากทดลอง
ทำอะไรที่แตกต่าง หรือชอบหาสิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเอง
เราแนะนำให้ลองไปหาหนังสือเกี่ยวกับศาสตร์ Typography
มาลองศึกษาดู เผื่อวันข้างหน้าจะได้มีตัวอักษรฝีมือตัวเอง
ขึ้นโชว์ตามหน้าหนังสือที่วางขายทั่วบ้านทั่วเมือง
หรือบนแผ่นพับใบปลิวให้ได้ภูมิใจกัน