Saturday, December 31, 2005
Monday, November 7, 2005
B513 ห้องเรียนไม่รู้จบ
กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย / จุดประกายโซไซตี้ / young society
จันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2548
คึกฤทธิ์ พลเยี่ยม
นอกจากที่อยู่แถวๆ ราษฏร์บูรณะ จะปรากฎอยู่บนนามบัตรของเขาแล้ว คำว่า Graphic & Type Designer ยังบอกให้รู้คร่าวๆว่า งานของเขาคือ กราฟฟิกดีไซน์และออกแบบตัวอักษร ถ้าให้เดา...สิ่งที่ทำให้เขาสนุกกับงานน่าจะเป็นคำที่ระบุเอาไว้ว่า Independent
และ B513DS!GN เป็นแบบตัวอักษรขนาดใหญ่ที่สุด ที่วางตัวอยู่บนนามบัตรสีเทาใบนั้นของ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช เขาคลายความสงสัยถึงที่มาที่ไปของถ้อยคำนั้นว่า หมายถึง สถานที่แห่งหนึ่ง เป็นเบอร์ตึกเบอร์ห้องของคอนโดที่เขาใช้พักพิง ในครั้งที่เคยรวมตัวรวมหัวกับกลุ่มเพื่อนรับทำงานกราฟฟิกดีไซน์เขาจึงไม่อยากใช้ชื่อออกไปเดี่ยวๆแต่พอใช้ไปใช้มามันกลายเป็นชื่อที่ระบุถึงตัวเขาคนเดียวไปโดยปริยาย
"ผมว่ามันก็โอเคนะ งานกราฟฟิกดีไซน์ อาจเพราะผมทำหลายๆอย่างมีช่วงเปลี่ยนของชีวิตเยอะเหมือนกัน อย่างตอนแรกผมเคยทำออฟฟิศมาแล้ว แล้วก็มาเป็นฟรีแลนซ์ รับงานจากเอเจนซี อย่างของบีบีดีโอ หรือ ลีโอ เบอร์เนทท์ ผมว่าน่าจะเป็นชื่อที่โอเคเป็นบริษัทในระดับต้นๆก็เคยทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นจะผ่านงานมาหลากหลายสารพัด บางทีเจองานฮาร์ดเซลส์มากๆ มันไม่มีเวลาให้เราคิด ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากทำ พอมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วเหมือนมันเลือกได้มากกว่า พอลูกค้าคุยกันยาก ก็พยายามเลี่ยงๆไป ผมว่ามันอยู่ได้นะอาชีพนี้ ถ้าไม่เบื่อไปซะก่อน"
ช่วงเปลี่ยนที่เค้าพูดถึง ตอนสำคัญอีกจังหวะ ก็คือ การได้เข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ นั่นคือส่วนที่เขาบอกว่า มันหล่อเลี้ยงความคิดอ่านให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ
"ผมสอนอยู่ 2 วิชา คือ Basic Visual Computing เป็นวิชาที่คล้ายๆกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เมื่อก่อนวิชาพวกนี้จะสอนตอนปี 3 เหมือนที่ ม.กรุงเทพ เขาคิดใหม่ว่า เด็กน่าจะทำเป็นตั้งแต่ปี 1 อีกตัวก็คือ Computer for Communication Design คล้ายๆ ว่าคนทำกราฟฟิกดีไซน์หลายๆคน จบงานไม่ค่อยเป็น ก็จะสอนให้รู้ทั้งหมด การเตรียมไฟล์ การเจองานประเภทต่างๆต้องทำอะไรบ้างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การแปลงไฟล์ การทำอี-บุ๊ค เอานวัตกรรมใหม่ให้เขารู้ก่อนออกไปเจอข้างนอก เลยได้เอาเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ที่เราเจอทุกวัน เจอปัญหา มาใช้ในการสอน"
อาจารย์เอก เล่าว่า งานสอนเป็นอีกความรู้สึกของการทำงาน ไม่ต้องตั้งตนอยู่บนกฎเกณฑ์จนเกินไปนัก ให้ความอีสระในการคิด-ทำ ค่อนข้างสูง "ทำให้ผมรู้สึกสนุกได้ตลอด ทำให้ได้คิดโจทย์ใหม่ๆ ต่อให้ผมทำงานข้างนอกได้ลูกค้าดีๆ อาจไม่ได้คิดอะไรหลุดๆแบบนี้ มันสนุก มันทำให้เรามีไฟในการที่จะทำแบบนี้ต่อไป รวมทั้งมีไฟออกไปทำงานของเราเอง ผมเห็นเพื่อนในรุ่นเดียวกัน เริ่มเหนื่อยกับชีวิต คือเจองานซ้ำๆเขาอาจหยุดที่จะเรียนรู้ กลายเป็นว่าทำงานเก็บตังค์ สร้างครอบครัว ไปโฟกัสเรื่องอื่นๆแทนที่จะศึกษาต่อไปเรื่อยๆ
ผมจะมองอะไรรอบๆตัว มองสังคม ช่วงนี้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานกราฟฟิก แล้วค่อยดึงประเด็นเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ มนเลยทำให้เราต้องคอยดู คอยตามอยู่ตลอด ผมว่ามันมีโจทย์อยู่รอบๆตัว เพียงแต่เราจะดึงอะไรขึ้นมาหรือเปล่า เหมือนเราได้เรียนอยู่เรื่อยๆ ถือว่าเป็นข้อดีที่เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้"
เอก บอกเล่าถึงงานสอนอย่างออกรสว่า พื้นฐานคือต้องสอนให้เด็กทำได้ตามหลักสูตรแต่ระหว่างทางนั้นมีความท้าทายในใจทย์ที่เขาตั้งขึ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ตีความ ก่อนจะโยงมายังเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ อย่างในช่วงหนึ่งที่ป้ายทั่วเมืองกรุงเทพๆข้างรถโดยสารประจำทาง มีรูปธงชาติไทยผืนใหญ่ ติดอยู่กับถ้อยคำที่ว่ารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เขาตั้งคำถามแล้วมาส่งต่อให้เด็กสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองโดยมีอาจารย์คนนี้คอยแนะนำหรือย่างเรื่องหอศิลป์กรุงเทพเขาก็ให้นักศึกษาคิด-ออกแบบหอศิลป์ที่เขาอยากได้ นอกจากเป็นการกระตุ้นต่อมสร้างสรรค์แล้วยังได้ผลงานตามหลักสูตรอีกด้วย
นอกจากงานสอนที่ ม.กรุงเทพแล้ว เขายังเปิดคอร์สอยู่ที่สมาคมฝริ่งเศส สอนเกี่ยวกับ Type Design เป็นงานอีกภาคส่วนที่เขารู้สึกท้าทายและทุ่มเทซึ่งการออกแบบตัวอักษรหรือตัวพิมพ์ (Font) ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่เขาเริ่มกระโดดโลดเต้นลงไปอย่างนักทดลองหน้าใหม่ และกำลังจะมีแบบตัวอักษรของตัวเองวางจำหน่ายเขามองว่าตัวแรกนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับตัวต่อๆไป แต่จุดเริ่มต้นที่ว่าเขาวาดหวังต่อไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะอาชีพ ไทป์ดีไซน์ หรือคนทำฟอนต์ ยังถูกมองข้ามความสำคัญจากสังคมไทย "คงต้องขอรอดูก่อน" เขาว่าอย่างนั้น
นอกจากงานกราฟฟิกดีไซน์ งานสอน งานออกแบบตัวอักษร เอายังมีอีกงานคือโปรดักท์ดีไซน์ เบาบอกว่ามันเป็นหลายๆส่วนเอื้อหนุนกัน ทั้งยังเป็นการรองรับอนาคต
แล้วยังมีอะไรอีกบ้างที่หนุ่มคนนี้อยากทำ "จริงๆสิ่งที่อยากทำ มันกำลังอยู่ในระหว่างทำมากกว่า อย่างงานสอนที่สมาคมฝรั่งเศส เป็นเหมือนที่เรียนพิเศษ อาจเป็นได้ว่าเด็กที่มาเรียน ไม่ได้เรียนศิลปะมา ไม่ได้เรียนกราฟฟิกมา เขาอยากรู้เรื่องไทป์ อยากทำฟอนต์เป็น เราก็ได้เห็นอีกวิธีคิดหนึ่ง ตัวอักษรมันเป็นงานที่เราเห็นอยู่รอบตัว หัดเขียน ก.ไก่ มาตั้งแต่เด็ก อย่างผมทำฟอนต์ ก็เอามาใช้กับงานตัวเองอยู่แล้ว คนทำกราฟฟิกอาจจะตั้งตันความคิดว่า จะเอามาใช้งานยังไง แต่เด็กเหล่านี้เขาอาจจะว่างเปล่ามาเลย เราก็จะได้เห็นวิธีคิดของเขา ผมว่ามันน่าสนใจ"
"ยอมรับว่าผมไม่ได้วางแผนอนาคตอะไรไว้เลย มันมีอะไรหลายอย่างให้ทำมาก ซึ่งผมว่าน่าจะมีความสุขกว่าทำอย่างเดียว มีหลายๆ ส่วนแบ่งกันไป ทำได้เรื่อยๆ อีก 10 ปี ก็ยังไม่เบื่อ"
ฟังแล้วรู้สึกอิจฉาผู้ชายคนนี้ขึ้นมาแล้วสิ เขาออกตัวว่า นับเป็นความโชคดีที่มีโอกาสเปิดให้และเขาเองก็พร้อมจะหยิบฉวยโอกาสนั้นไว้เพราะโอกาสมันมีเสมอ แต่ไม่ได้มีให้ทุกคนทุกครั้ง ทั้งยังโชคดีที่ได้เจอผู้คนที่มีอะไรมาแบ่งฝันปันเปลี่ยนกัเสมอ ในฐานะนักเดินทางเหมือนกัน
บางทีจุดหมายที่ตั้งไว้ 10 ปีข้างหน้า อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับ เมื่อเปิดประตูออกจากห้องแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวระหว่างทางนั้นบ้าง
Monday, May 16, 2005
KaniGa Patana / redesigned from KaniGa
ฟอนต์ คณิกา พัฒนา ได้ออกแบบใหม่ โดยยึดสัณฐานต่างๆของ คณิกา
ที่เคยขนะการประกวดของ tepclub เมื่อปี 2002
จากข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไร้ข้อจำกัดในการออกแบบ
โดยความต้องการเพื่อทำให้มีทันสมัยขึ้น เรียบง่ายมากขึ้น
รูปแบบการขีดเขียนที่ใหม่จากความเป็นอักษรไทย
ตามหลักวิชาการที่เคยเป็นเงื่อนไขในการประกวด
หาดูได้จาก ARENA Magazine / THAI edition
KaniGa Patana จำหน่ายที่ www.behaviourgroup.com
Monday, March 14, 2005
Type Designer Talk with OPENTYPES book
OPENTYPES / Prototype book No.2 Learn from the Experts /
Type Design Issue
Type Designer Talk
สำนักพิมพ์ Core Function
ความน่าสนใจในตัวของ " เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช " ไม่เป็นแต่เพียงนักออกแบบฝีมือดี ในนาม " B513DS!GN " เท่านั้น แต่ทว่าเขายังเป็น " Type Designer " ไปพร้อมๆกับการเป็น " Graphic Designer " มิหนำซ้ำเขายังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกด้วย
" เอกลักษณ์ " ได้ออกแบบและสร้างสรรค์ตัวอักษรมาแล้วไม่น้อยเลยทีเดียว อาทิ ขบถ, คลั่งชาติ, คำหนึ่ง, กระแส, กรรม และอีกหลายแบบอักษรซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน
ที่สำคัญคือ " คณิกา " ฟอนต์ตัวล่าสุด ซึ่งเขาเปรียบไว้เหมือนดั่ง " หญิงงามเมือง " ที่มีความแข็งแกร่งแต่แฝงไปด้วยเสน่ห์อันเย้ายวน
" หญิงงามเมือง " จะแข็งแรง มีเสน่ห์ และเย้ยยวนอย่างไรนั้น เชิญสัมผัสจากผู้ให้กำเนิดฟอนต์ " คณิกา " ไปพร้อมกับมุมมองความคิดของเขา...
O ก่อนอื่นถามก่อนว่าคิดอย่างไรกับการศึกษาด้าน Typography ในบ้านเรา
K ผมว่าในเมืองไทยยังไม่มีเท่าไร ยังมีการจัดการเรียนการสอนน้อย เพราะไปดูจากหลักสูตรต่างประเทศจะมีการเรียนมากกว่าประมาณสี่ถึงห้าตัว แต่หลักสูตรในเมืองไทยค่อยข้างน้อยเรียนแค่หนึ่งถึงสองตัว ซื่งลักษณะเนื้อหาจะเป็นแบบพื้นฐานมากๆ ทำให้คนไม่ค่อยเข้าใจและให้ความสำคัญกับตัวอักษรเท่าไหร่นัก
O คุณมองความสำคัญของตัวอักษรต่อการออกแบบอย่างไร
K ผมว่าจริงๆประเด็นสำคัญของตัวอักษรคือการสื่อสาร นอกจากการสื่อสารในเนื้อความปกติแล้วนั้น ตัวอักษรยังต้องบ่งบอกถึงบุคลิกของงานออกแบบนั้นๆ และส่งผลให้งานแต่ละชิ้นนั้นมีบุคลิกภาพ มีเอกลักษณ์ชัดเจนมากขึ้น
O ได้อิทธิพลและแรงบันดาลใจจากไหน ในการออกแบบฟอนต์ KaniGa
K ผมก็ทำงานตามโจทย์ ซึ่งโจทย์เขาต้องการ Text Font ซึ่งความสำคัญของ Text Font ก็คือการอ่านง่าย (Legibility) เมื่อถูกย่อลงมาเป็นตัวเล็กๆ มันก็เลยต้องใช้ความคุ้นเคยของตัวอักษรในแบบที่ง่ายที่สุดในการที่ให้คนเข้าใจ ดังนั้นวิธีการทำงานก็ถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ คือ
...ช่วงแรกผมจะหาโครงสร้างมันขึ้นมาก่อน โดยศึกษาจากการเขียน โดยอาศัยความรู้สึกและบรรทัดฐาน ในการตัดทอนและเพิ่มเพื่อเป็นโครงสร้าง และเมื่อได้โครงสร้างแล้วก็นำมาพัฒนาต่อ คือ คิดตัว Concept ลงไป ซึ่งใน Text Font บางทีการใช้งานจริง ก้ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าคนจะเอาไปใช้งานแบบไหน บางทีอาจจะไม่นำไปใช้เป็นแค่ Text Font ก็ได้ บุคลิกต่างๆของฟอนต์เองก็ควรจะมี ผมจึงใส่รายละเอียดความโค้งมน ซึ่งเป็นบุคลิกของฟอนต์ตัวนี้ ซึ่งผูกไปถึงเรื่องฟอนต์ตัวนี้จะเป็นฟอนต์แจก จริงๆแล้ว นักออกแบบหรือคนทั่วไปก็ตาม มีความต้องการตัวฟอนต์อยู่ เมื่อบอกว่ามีการแจก ก้จะมีคนสนใจ ผมจึงมองว่ามันเป็น คณิกา หญิงงามเมือง จะมีแต่คนต้องการแม้อาจจะไม่เห็นคุณค่าอะไรมากมาย ผมจึงตึกลับมาเป็นฟอนต์ จึงควรมีเสน่ห์มากขึ้น จริตจะก้านมากขึ้น คือดูต้องไม่เรียบร้อยเท่าไหร่ โดยอาจจะเพิ่มส่วนโค้ง ส่วนมนเข้าไป อย่าง ตัว พ พาน คือถ้าเป็นปกติจะเป็นฐานธรรมดา แต่สำหรับคณิกาจะเพิ่มส่วนโค้งเข้าไป ซึ่งจะเป็นเสน่ห์ของมัน อย่าง ก ไก่ แทนที่จะเรียบ มันก็ไม่เรียบร้อยเท่าไหร่ ด้วยบุคลิกที่ดูผอมๆ บาง ที่จะสอดคล้องกับคอมเซ็ปต์ที่คิดไว้ด้วย ขั้นต่อมาพอได้รูปแบบของตัวอักษรมาแล้ว ก็ถึงขั้นนำไปพัฒนาเป็นฟอนต์ ซึ่งอาจจะมีการปรับอีกรอบหนึ่ง สำหรับบางตัวที่เรารู้สึกว่ามันมากไปหรือน้อยไป พอมาอยู่ใน Text ที่ร่วมกัน เราก็จะดูและปรับเป็นตัวๆไป บางตัวเมื่อดูผอมไปหรืออ้วนไป ก็ปรับให้มันดูเข้ากัน สำหรับคณิกาก็จะทำประมาณนั้น
O กระบวนการและขั้นตอนในการทำ Font ชุดนี้
K ก็คงจะคล้ายๆกับที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งในขั้นแรก ในขั้นตอนของโครงสร้าง ผมจะใช้การเขียน แต่ไม่ถึงกับเขียนเป็น outline ผมจะเริ่มจากเขียนทิศทางของเส้น ว่าควรจะวิ่งแค่ไหนยังไง เป็นตัว Sketch ขึ้นมาก่อน ว่าตัวอักษรนั้นจะวิ่งไปในทิศทางไหน แล้วต่อยนำมาพัฒนาต่อในคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มเขียนในคอมพิวเตอร์ เขียนลายเส้นก็เพราะว่าเราต้องการ stroke ที่เท่ากันในการเริ่มต้น เพราะคิดว่าการนำไปเขียนในคอมพ์เส้นจะมีความเท่ากันมากกว่า แล้วพอทำเป็นเส้นเสร็จจึงแปลงเป็น Outline อีกที แล้วค่อยมาแปลงให้มีความหนาบางและความลวงตามากขึ้น เพราะว่าตัวอักษรบางจุดเมื่อมาขนกันจะเกิดความทึบในมุมนั้นจึงต้องมาดัดแปลงกันอีกที แล้วขั้นต่อมาจึงนำเข้าสู่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่พอมันเป็นฟอนต์ ก็คงจะไม่จบแค่นั้น กระบวนการต่อไปคือ ต้องทำการทดสอบ ซึ่งพอโจทย์มันเป็น Text
ฉะนั้นเราจึงควรทดสอบมันให้อยู่ในลักษณะตัวอ่าน แล้วก็ปริ้นท์ออกมาดู การทำงานจริงๆกันฟอนต์จริงๆน่าจะเป็นในส่วนนี้เสียเยอะ คือมันจะเห็นว่าคู่ไหนเจอกันในภาพรวม มากกว่าเห็นเป็นตัวตัว เพราะตอนใช้งานมันจะเป็นงานแบบหนึ่ง แล้วก็ปริ้นท์ออกมา แล้วดูว่าตรงไหนมีปัญหาจึงกลับไปแก้ในโปรแกรมอีกทีหนึ่ง
O ระยะเวลาที่ใช้
K จริงๆแล้วฟอนต์ตัวนี้จะมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจริงๆผมว่าในตัวรูปแบบฟอนต์น่าจะประมาณเดือนหรือสองเดือนก็น่าจะเสร็จตามหลักของการออกแบบ แต่คือมีปัญหาเทคโนโลยีเราก็ไม่รู้ว่ามันใช้งานได้หรือเปล่าในรูปแบบนั้น ซึ่งตอนแรกทำให้รูปบแบบ Unicode ซึ่งก็ไม่มีโปรแกรมจะให้ลองว่า Unicode จะพิมพ์ได้ไหม ซึ่งก็ต้องรอโปรแกรมกัน ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะเป็นเหมือนกันเหมือนกับว่าเราดีไซน์ไว้แล้ว จริงๆมันจะโอเคแล้วนะตอนนี้พอผ่านไปซักสามเดือน มันก็เจอตัวนั้น เจอตัวนี้อยากจะปรับ ผมว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เพราะว่าระยะเวลามันถูกยืดออก บางทีรายละเอียดจ่างๆที่เคยถูกชอบ ณ ตอนนั้น พอไปเห็นและไปเจออะไรรูปแบบใหม่ๆ มันก็จะปรับไปอยู่เรื่อยๆ ซึ่งกว่าจะเคลียร์เรื่องเทคโนโลยีเรื่องอะไรต่างๆได้ ก็เกือบปีกว่า มันก็เลยทำให้รุปแบบต่างๆของฟอนต์ได้ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ
O ในฐานะผู้ออกแบบ จุดเด่นของฟอนต์ KaniGa อยู่ตรงไหน
K มันคงไม่มีอะไรเท่าไหร่ โดยตัว Text Font นั้นควรไม่มีบุคลิกที่จัดมากเกินไปนัก เพราะว่ามันควรจะใช้ตอบงานได้ทุกๆงาน เพราะ Text Font ควรจะสามารถไปอยู่กับงานอื่นๆได้ไม่โดดเด่นจนเกินไปนัก และ Text ก็ไม่ควรจะทำหน้าที่เกินไปนัก ซึ่งมันก็ควรมีเสน่ห์บ้างถ้านำขึ้นมาเป็น Display จึงจะเห็นรายละเอียดนั้น โดยรายละเอียดบางตัวโค้งมน อาจจะมองไม่เห็นใน Size งานขนาดเล็ก
O ปัญหาที่พบในการออกแบบฟอนต์ชุดนี้มีอะไรบ้าง
K ผมว่าปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของ Type Designer เพราะว่า Type Designer จะหนักไปทางออกแบบตัวรูปแบบของตัวอักษรมากกว่า มันควรจะมีผู้ที่ทำงานในส่วนของโปรแกรมเข้ามาเกี่ยวข้องในงานด้วย ซึ่งโครงการที่ผ่านมา ก็จะมีพี่เลี้ยงแต่ไม่เคยเข้ามา เพราะอาจจะเกี่ยวกับธุรกิจของเขาด้วย เพราะถ้ามันใช้ได้เขาก็ขายไม่ได้ ก้ต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจกัน มันควรจะมีโปรแกรมเมอร์ในส่วนอื่นที่ต้องดูแล
...ผมมองว่าในฟอนต์เก่าๆ เราแค่ดีไซน์ Glyph ลงใน Template ของฟอนต์นั้นๆ แต่นี่กลายเป็นว่าไม่มีคนมาวาง เราต้องการเป็นคนมาวางเอง คนวางเองเนี้ยก็น่าจะทำงานคู่กับโปรแกรมเมอร์ แต่มันไม่มีทั้งสิบคนที่ประประกวดครั้งนี้ไม่มีใครเป็นโปรแกรมเมอร์เลย มีแต่ Type Designer อาจจะช้าเพราะตรงนี้ ซึ่งจะว่าทางโปรแกรมเมอร์จะไ่ม่มาร่วมก็คงไม่ถูกซักทีเดียว เพราะว่าโปรแกรมเมอร์บางคนก็ยังไม่รู้เรื่อง ซึ่งจากที่คุยๆกัน ให้ทางโปรแกรมเมอร์ลงมาทำให้ มาศึกษากัน เขาก็ไม่มีเวลา และก็ไม่ได้อะไร ก็ต้องเข้าใจกันไป ดังนั้นจึงต้องหาทางกันเอาเอง อย่างสคริปต์ที่ผมเขียนมาให้ใช้ได้ ก็ไม่ได้ผ่านคนที่รู้เรื่องจริงๆมานั้งรับรู้ มันก็เหมือนทดลองใช้กันดู
O นอกจากปัญหาเรื่องเทคโนโลยีแล้วมีปัญหาอื่นอีกไหม
K ปัญหาเรื่องอื่นๆคือ พอระยะเวลาการทำงานนาน ผมว่าฟอนต์มันออกแบบเป็นชุดกัน พอบางทีเราทั้งไปนาน พอกลับมาทำอีกทีหนึ่ง บางตัวหรือบุคลิกที่เราคิดไว้ในฟอนต์นี้ในตอนนั้น บางทีอาจจะลืมหรือหลงไป ซึ่งทำให้บางตัวมันหลุดจาดชุดก็ได้
ผมว่าฟอนต์ควรทำเป็น Step คือถ้าช่วงทำโครงสร้างก็ควรทำให้เสร็จทั้งหมด และพอช่วงพัฒนารูปแบบก็ควรปรับให้เสร็จทั้งหมด จะได้ดูทีทั้งชุด เพราะเวลามันยึดบางทีเราปรับตัวสองตัวแล้วมันอาจจะหลุุดจาก Idea ของโครงสร้างฟอนต์ไปได้
O ปัญหาลิขสิทธิ์ฟอนต์ในตอนนี้ คุณมีมุมมองอย่างไร
K มันก็มีปัญหากันไป ผมมองว่ามันเรื่องก้ำกึ่ง เขาไปตีความหมายว่าเป็นซอฟต์แวร์ พอตีว่าเป็นซอฟต์แวร์ ก็มีพวกออกมาคานว่ามันยังไม่ถึงขั้นเป็นซอฟท์แวร์ได้ มันก้ำกึ่งระหว่างงานศิลปะกับซอฟท์แวร์ ถ้างาน print รูปหนึ่งถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของคนนั้นนะ
...แต่นี่เขาก็ว่าสร้างสรรค์ไม่พออีก จะเป็นซอฟท์แวร์ก็ไม่พออีก พอมันอยู่ตรงกลาง คนที่ได้ประโยชน์ในตอนนั้นก็จะมี PSL ซึ่งเป็นฝ่ายคนทำฟอนต์ ฝั่งที่โดนฟ้องก็จะเป็นโรงพิมพ์ทั่วประเทศซึ่งพื้นฐานของนักการเมืองก็ย่อมจะเข้าข้างฝ่ายที่มากกว่าและก็ต้องเอาเสียงที่ช่วยไง เขาก็เลยมาบอกว่าฟอนต์ไม่มีลิขสิทธิ์ ตอนนั้นไม่มีใครทำต่อ เลิกทุกคน เลิกทำหมดเลย มันควรจะมีการรับรองลิขสิทธิ์ ผมไม่ค่อยห่วงเรื่องคนเอาไปใช้เท่าไร ฟอนต์เราออกแบบมาเพื่อจะทำให้คนนำเอาไปใช้ ไม่งั้นจะทำออกมาเพื่ออะไร
O ในวงการนักออกแบบฟอนต์ มีส่ิงใดที่คุณอยากให้เกิดบ้าง
K เหมือนกับที่หลายๆคนคิดนั่นหละ คืออยากให้มันเกิดเป็นวิชาชีพได้ จะได้มีคนเข้ามาทำมากขึ้น ผมว่าตอนนี้อาจมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เรื่องอะไรด้วย กับภาพรวมผมยังไม่แน่ใจว่าเขาคิดกันยังไงแต่สำหรับผม คิดว่าลิขสิทธิ์ควรจะมีเพื่อป้องกันงานของเราโดนลอกเลียนรูปแบบอักษรมากกว่าคนก๊อปปี้ไฟล์ไปใช้ ผมว่าลิขสิทธิ์คงไม่ไปครอบคลุมอะไรขนาดนั้น ผมเลยมองว่า มันแค่เป็นการปกป้องรูปแบบที่เราทำมากกว่า เหมือนกับเราทำเสร็จแล้วคนนำไป Generate เปลี่ยนชื่อใหม่ มันก็จะกลายเป็นฟอนต์อื่นไป ก็อาจจะไม่มีคนเข้ามาทำเลย กลายเป็นปัญหา
...ซึ่งอีกอย่างมันไม่สามารถประกอบอาชีพได้ บังเอิญผมทำงานกราฟิกด้วย ผมจึงสามารถนำฟอนต์มาใช้ในงานได้ โดยส่วนใหญ่ที่ทำมาเพื่อใช้ในงานส่วนตัวเสียมากกว่า เช่น ตอนนี้อยากได้ตัวหนา ผมก็จะทำมาเพื่อเป็นบุคลิกของงานมากกว่า แค่คือมองกันระยะยาว คนอื่นที่เข้ามา มันก็ควรจะเลี้ยงชีพได้ เพราะอย่างผมเองตอนนี้ที่เป็น Freelance ถ้าเทียบกันกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ทำ Art Director ก็จะได้ค่าตอนแทนมากกว่า 2-3 เท่า พอเรามาทำ Type Design เราก็ไม่ได้อะไรเลย เราต้องมาเจียดเวลาในการทำงานแลกกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีคิดด้วย ซึ่งบางทีเราต้องแลกด้วยเวลาและเงิน เพื่อจะได้มาทำในครงนี้
สำหรับตัวผมเองคิดว่า การออกแบบฟอนต์ปัจจุบันมันยังคงไม่ได้เป็นอาชีพ แต่ในระยะยาวควรจะเป็นได้ เพื่อจะได้มีคนใหม่ๆ เข้ามา ไม่งั้นคงจะไม่มีคนทำแน่ๆ แต่ก็คงไม่ขึ้นอยู่กับค่าลิขสทธิ์เป็นหลักหรอกในการประกอบเป็นอาชีพได้ เพียงแต่ให้คนทั่วไปเข้าใจและซื้อได้ในราคาที่ไม่เกินไปนัก
O มีทัศนะเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ยังไง
K ผมว่ามันเป็นเรื่องยาก เพราะว่ามนเหมือนกับว่ารูปแบบบางทีมันต้องเปิดกว้าง อาจจะเหมือนกับงานคุณโอ๋ (กัลยาณมิตร นรรัตน์มิตรพุทธิ) ที่เอาแรงบันดาลใจจากสองฟอนต์มา ฟอนต์ที่ทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งมันต้องเกิดเหตุการณ์นั้นอยู่แล้ว ตอนนี้มันอาจจะน้อยซึ่งแม้บางงานของผมอาจจะไปชนกับของคนอื่น คือมันเป็นเรื่องคิดตรงกันหรืออาจจะเกิดไอเดียมาพร้อมๆกัน หรือคล้ายกันได้ ซึ่งบางคนอาจเห็นฟอนต์ของผมแล้วอาจเกิดไอเดียและพัฒนาต่อขึ้นไป มันก็เลยวัดยากที่จะมากำหนดว่า ตรงนี้ต้องมาคุ้มครอง ตรงนี้คุณลอกไป มันวัดไม่ได้
...อย่างตัวอักษรของผมที่ชื่อ " คำหนึ่ง " โครงสร้างมันอาจจะคล้ายกับฟอนต์ที่มีอยู่ตัวหนึ่ง เพราะผมว่าโครงสร้างการเดินของเส้นมนสวย แต่ถ้าเอาตัว " คำหนึ่ง " ไปเทียบกับตัวนั้นแล้ว ไม่มีจุดไหนที่ซ้ำกัน ไม่ว่าความอ้วน ความหนาของเส้น โครงสร้างถูกปรับไปหมด ซึ่งโครงสร้าง ก ไก่ ก็คือต้องเขียนแบบนี้ บ ใบไม้ ก็ต้องเขียนแบบนี้ ซึ่งมันทำให้ไม่สามารถจะมานั่งจับกันในรายละเอียดลึกๆได้ มันขึ้นอยู่กับ จรรยาบรรณล้วนๆ ซึ่งถ้าจะทำแล้วไม่ต้องมาก๊อปปี้กัน
...โดยลิขสิทธิ์อาจจะช่วยแค่หลอกคนไม่ให้กล้าที่จะทำ แต่ถ้่าไม่มีลขสิทธิ์ ผมก็อาจจะหยิบฟอนต์ PSL มาทำก็ได้แล้วบอกไม่ใช่ PSL เมื่อมีกฎหมายออกมาคนเราก็คงจะกลัว เหมือนว่ากฎหมายออกมาขู่เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีผลอะไรมากมายนัก
O คิดอย่างไรกับการนำฟอนต์เก่ามาใส่บนแผนผัง Unicode ที่ทางทีมงานประกวดช่วยกันคิดขึ้น
K ผมเฉยๆ เพราะว่าผมเป็นนักออกแบบ เลยมองทางด้านการออกแบบมากกว่า ถ้าเอาตัวฟอนต์าทับลงไป เพื่อให้เกิดการใช้งาน การทำฟอนต์แต่ละชุดก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งอย่างตัวนี้ต้องหาทั้งทรัพยากรต่างๆ เพื่อนำไปทดสอบ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าปริ้นท์ ซึ่งมันก็มีค่าใช้จ่าย คนทั่วไปบางทีก็ไม่เข้าใจ
...จากคำถาม ต้นแบบตารางที่พวกผมได้ทำกันขึ้นมา ตัวคารางเป็นไกด์ที่ทำกันขึ้นเพื่ออยากให้เป็นการต่อยอดมากกว่า เพราะว่าจริงๆแล้วตำแหน่งสระที่วางถูกต้องใน OSX มันถูกต้องเพราะว่าสคริปต์ที่ผมเขียนไปข้างในนั้น ซึ่งถามว่าผมมีวิธีที่ผมจะ Generate Font โดยไม่ฝังสคริปต์ไปด้วยก็ทำได้ แต่เท่าที่คิดและก็คุยกับคุณศุภกิจ เฉลิมลาภ มองภาพรวมที่ผมมองว่าฝังลงไป คนเอาไปทำต่อ ถึงแม้เขาจะไม่รู้จักผม ขอให้เขาดีไซน์และนำไปใส่ในฟอนต์กใช้ได้ละ ผมจึงฝังลงไปดีกว่า เพื่อประโยชน์ภาพรวมมากกว่า เลยทำแบบเปิดไว้
O คุณคิดอย่างไร หากมีการรวมกลุ่มของนักออกแบบตัวพิมพ์ขึ้นมา
K ผมว่าความรู้ทางด้านนี้มันน้อย ผมว่ามันก็คงต้องรวมกันขึ้นมาเพื่อ...หนึ่งอาจจะเป็นการเรียกร้องกันในเรื่องความเป็นอาชีพด้วย และก็ในเรื่องความรู้ด้วย มันคงต้องแชร์กัน เพราะว่าถ้าเราแต่ละคนไปพัฒนากันเอง ก็อาจจะทำให้การพัฒนากันช้าลง อย่างที่เห็นในบ้านเรา
ตอนผมทำ Thesis ตอนเรียน ผมก็เห็นแค่ PSL แค่สองชุดเองนะ ไม่ค่อยแน่ใจ และตอนนี้ก็เพิ่มมาอีกชุดเดียว แล้วก็ไม่เห็นชุดอื่นๆที่ใหม่ขึ้นมาจริงๆ ในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมาอาจจะมีแค่ตัวหรือสองตัวเท่านั้นเอง เพราะว่าคนต่างแยะกระจายกันไป ซึ่งของผมส่วนมากก็จะมีคนใช้ก็อยู่ในกลุ่มที่รู้กันอยู่แล้วนำไปใช้ แต่ถ้ามีการรวมตัวเพื่อพัฒนา ผมว่าฟอนต์คงมีมากกว่านี้
O แล้วแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบตัวพิมพ์ในบ้านเราตอนนี้หละ คิดว่าเป็นยังไง
K ผมคิดว่าไม่มีเลย มันเคยมีหนังสือเก่าๆมากอยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งผมก็หามาอ่านไม่ได้ แล้วตอนเข้าประกวดที่ได้มีการอบรม Workshop ผมเองก็ไม่ได้อะไรเลยจากการมาฟัง ซึ่งผมเองก็มีอาจารย์ผมที่เป็นอาจารย์สอนอยู่เหมือนกันเสียเงินเข้าไปฟัง ก้ไม่ได้อะไรเลยจากการที่ไปฟัง ความรู้มันไม่มี ก็ไม่ได้อะไรจากส่วนนี้
...ถ้าความรู้มันเปิดกว้างไม่ว่าด้วยหนังสือหรือ Workshop มันก็คงจะช่วยให้คนทำงานในส่วนนี้มากขึ้น ผมก็ว่ามันไม่ได้ยากมาก เพราะในส่วนที่ผมทำอยู่ตอนนี้ ส่วนหนึ่งที่รู้จักตาราง Unicode ก็เพราะอาจารย์ปราสาท วีรกุล ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำฟอนต์ตัวนี้ ก็จะรู้เรื่องพวกนี้ว่า Unicode สามารถทำได้ และมีพวกฟังก์ชั่นของ Opentype ที่สามารถเอามาทำงานได้ ซึ่งจริงๆเขาก็จะรู้เบื้องต้นมาว่ามันสามารถทำพวกนี้ได้แต่ไม่รู้ว่าทำยังไง ก็ต้องไปศึกษาในเว็บไซต์
ผมว่าถ้าคนสนใจมากๆ สามารถเรียนรู้จากเว็บไซต์เมืองนอก มันมีแต่มันอาจจะช้า อย่างฟอนต์ตัวนี้ ใช้เวลาปีกว่า กว่าจะออกมาเป็น Table ต้นแบบ คนอื่นๆก็ต้องเหมือนกัน ถ้าอยากศึกษาก็ต้องเข้าเว็บไซต์อื่น หรือมีหนังสืออะไรที่แปลเป็นไทย ที่มันย่อยง่าย ก็คงอาจไม่เสียเวลามากเท่านี้
O ถ้าสนใจอยากจะทำฟอนต์ต้องเริ่มจากอะไร
K อย่างแรกเลย เอาแค่ให้รู้สึกชอบกับงานตัวอักษรก็พอ ผมทำมาหลายฟอนต์แล้ว อย่างน้อยก็ฟอนต์ละเดือนสองเดือน แบบไม่ทำอะไรอย่างอื่นเลย อย่างน้อยก็ต้องมีเวลาให้ในส่วนนี้ ก็คงเป็นเรื่องพวกนี้ ถ้าอยากจะทำก็ต้องมีความใส่ใจสนใจ ตัวอักษรมันเป็นเรื่องสื่อสารกับคนทั่วไป เราต้องดูว่าคนภายนอกส่วนใหญ่เขาต้องการอะไร คนนำไปใช้เป็นกราฟิกดีไซน์ก็ต้องศึกษาเรื่องกราฟิก เรือง Trend หรือกระแสส่วนใหญ่ทีคนสนใจในตอนนี้เป็นยังไง หรือแบบไหนที่เคยมีมา เราต้องรู้กว้าง
O นอกจากจะต้องติดตามกระแสแล้วมีอะไรอีกไหม
K ผมว่ามันเป็นเรื่องรายละเอียดด้วย ถามว่าทั้งสิบคนที่ลงมาทำแล้ว ถ้าหากมีฟอนต์ไหนที่ทำขึ้นมาใหม่ จะรู้แล้วว่าเป็นฟอนต์ที่ไม่ได้ถูกทำขึ้นมาใหม่พอลงมาทำแล้ว เราจะเข้าใจว่าแต่ละโครงสร้างต่างกันนิดเดียวมันมีผล เพราะว่าแค่ตัวอักษรตัวเล็กเพียงตัวเดียว แต่มาประกอบเป็น Text แล้วมีมีผลกับทั้งหมด ต้องเป็นคนช่างสังเกต
O ในเชิงโครงสร้าง อักษรไทยกับอักษรอังกฤษคุณว่ามันแตกต่างกันตรงไหน
K ข้อแตกต่าง คือผมว่าโครงสร้างของฟอนต์ฝรั่งถูกคลี่คลายมาเยอะแล้ว การทำงานในด้าน Typography มีมากกว่าเราเยอะ หลายร้อยปีแล้ว ผมว่ามันถูกพัฒนามาโดยนักออกแบบ ถูกแปลงมาเยอะมาก และมีรูปแบบที่เรียบง่ายขึ้น
...อย่างของไทยเรา ยังไม่ถูกทำขนาดนั้น อาจจะมีก้าวกระโดดไปตามฟอนต์เมืองนอก อย่างตัว "ร" ก็จะนำเอาลักษณะตัว "S" คือแปลงให้มันเรียบง่ายขึ้น ก็คงต้องดูไป มันอาจจะเหมือนความคุ้นเคยแต่ละคนแต่ละช่วงยุค ซึ่งในยุคนี้ที่มีอินเตอร์เน็ทเข้ามา กลายเป็นว่าฟอนต์ที่มีหัวมีรายละเอียดครบถ้วนนั้น มันอาจจะมากไปในการแสดงผลบนหน้าจอเพื่อใช้อ่าน เป็นต้น
O คิดอย่างไรกับการเขียนฟอนต์เพื่อจำหน่ายต่างประเทศ
K คือถ้าที่อื่นทางเมืองนอก อาจต้องแยกกรณีไป สำหรับภาษาไทยก็คงได้แค่นี้ ล่วนภาษาละตินก็คงกว้างกว่าเพราะมีคนใช้ทั้งโลก มีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับว่างานของเราสามารถจำหน่ายได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง
O ในอนาคต คุณวางแนวทางในการทำงานด้านตัวอักษรไว้อย่างไร
K ผมทำงานกราฟิกดีไซน์เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปทาง Typography จึงต้องสร้างฟอนต์ขึ้นมาเพื่อตอบรับกับงานกราฟิกที่ทำ ก็คงทำงานอย่างนี้ต่อไปในภาพรวม แต่ถ้าในเรื่องฟอนต์ ก็คงมีที่คิดไว้และก็จะพัฒนาต่ออีกหลายตัวเหมือนกัน ที่วางแผนไว้และยังไม่มีเวลาทำต่อ ซึ่งมันคงเป็นช่วงเวลาที่ยังต้องมีเรื่องที่จะศึกษาต่ออีก ในรายละเอียดของเรื่องฟอนต์ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาอีกเยอะครับ
O อยากจะฝากอะไรทิ้งท้ายไว้ไหม
K อยากให้มีคนเข้ามาสนใจในเรื่องของการออกแบบตัวพิมพ์มากขึ้น และผมก็มีโครงการจะเปิด Workshop จริงๆ แล้วอยากจะให้เป็นวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพด้วยเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ว่างเสนอเข้าไป เพราะว่าหนึ่งในนั้นเด้กเรียนดีไซน์แล้วมี Typography ซึ่งเด็กบางคนที่ทำงานมาส่ง เขาก็มีรูปแบบตัวอักษรของเขา เขามีดีไซน์ แต่ยังทำเป็นตัวพิมพ์ไม่เป็น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเปิดวิชาหนึ่งขึ้นมา