Friday, November 27, 2009

Thai Type Designer

Computer arts Thailand / no.07 / November 2009 / In depth - Thai Type Designer


จุดสตาร์ทในการเข้ามาข้องแวะกับตัวอักษรเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ จากการเป็น

ไทป์ดีไซเนอร์เจ้าของชุดอักษรกลิ่นอายความเป็นไทยทั้ง 'คณิกา' และ 'ครับ' ที่ได้รับเลือก

ให้เป็น 1 ใน 10 ฟอนต์ในโครงการประกวดแห่งชาติถึงสองครั้งสองครา ปัจจุบันเขา

ทำงานร่วมกับ คัดสรรดีมาก เพื่อออกแบบ custom font ลูกค้าที่ผ่านมาของเขา

เช่น DTAC, Lotus, และนิตยสาร ดิฉัน เป็นต้น



คุณคิดว่าฟอนต์ที่ดีเป็นแบบใด

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ฟอนต์ที่ดีคือฟอนต์ที่อยู่ถูกที่ถูกจังหวะ เหมาะสมในบริบทของมัน

ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า ฟอนต์จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่ที่การจัดการกับ typography ที่ดีมากกว่า

ฟอนต์บางตัวอาจจะดูบิดๆเบี้ยวๆ หรือเป็นแบบลายมือที่ดูไม่มาตรฐาน แต่ถ้าถูกเลือกใช้

ให้เหมาะสมกับงาน และถูกจัดวางให้เข้ากับบุคลิกของฟอนต์ตัวนั้นก็จะทำให้ฟอนต์นั้นเป็นฟอนต์ที่ดี


คุณคิดว่าการมีฟอนต์ที่หลากหลายนั้น จะมีผลดีอย่างไรกับชีวิตของคน

มีทางเลือก ทางออก ที่หลากหลาย ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือนเสื้อผ้า คนๆหนึ่งอาจจะมี

เสื้อผ้าชุดเดียวก็ไปได้ทุกที่ แต่ถ้ามีเสื้อผ้าหลากหลายเราก็เลือกให้เหมาะสมกับ

กาลเทศะของแต่ละบทแต่ละตอนได้ เราอาจจะมีเสื้อเชิ้ตกางเกงสแลคเป็นมาตรฐาน

ที่คิดว่าใช้ได้หลายงานและมีบุคลิกกลางๆ แต่หากเราต้องไปปาร์ตี้ มันก็ไม่โดดเด่นพอ

หรือจะไปขึ้นเขาลงทะเล มันก็อาจจะไม่สบายนัก แต่ถ้าเรามีเสื้อผ้าหลายๆชุดที่เหมาะสม

กับงานแต่ประเภท เราก็สบายขึ้นและดูดีขึ้นด้วย



คุณคิดว่าความยากของการออกแบบฟอนต์อยู่ที่ตรงไหน

ความเหมาะสมกลมกลืนกันของตัวอักษรแต่ละตัวที่รวมกันเป็นชุดอักษรหนึ่งชุด

การเดินเส้นของแต่ละอักษรที่เขียนไม่เหมือนกันแต่ต้องให้การถ่ายทอดสำเนียง

ออกมาเป็นเสียงแบบเดียวกัน เพราะยิ่งเราอยากให้ฟอนต์ของเราต่างจากฟอนต์เดิมๆ

ที่มีอยู่ เราก็จะยิ่งพยายามหาการเดินเส้นอักษรหลายๆตัวให้แปลกใหม่ นั่นก็จะ

ควบคุมสำเนียงที่เกิดขึ้นให้กลมกลืนกันได้ยากขึ้นไปอีก และนี่คือข้อแตกต่างของฟอนต์

กับ lettering หรือ logotype เพราะงานที่จบนั้นไม่ได้อยู่ที่เฉพาะในมือเรา เราไม่รู้ว่า

อักษรตัวไหนจะมาเจอกัน มาอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เลยจะต้องทำให้กลมกลืนเป็น

สำเนียงเดียวกันให้มากที่สุดไว้ก่อน


ถ้าเปรียบเทียบตัวเองกับฟอนต์บนโลกนี้ คุณคิดว่าคุณจะเป็นฟอนต์อะไร

ตอบเป็นชื่อฟอนต์เลยคงยาก เพราะค่อนข้างเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบอะไรที่ซ้ำๆ

จำเจ มันเลยทำให้บุคลิกหรือวิธีคิดของเราค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปอยู่บ่อยๆ

บางช่วงบางจังหวะคิดว่าเราอาจจะสงบนิ่งเหมือนฟอนต์ตัวนั้น แต่บางช่วง

อาจจะไม่มีบุคลิกอย่างนั้นเลยก็ได้


คุณคิดว่าเอกลักษณ์ของฟอนต์คุณอยู่ตรงไหน

คิดว่าไม่ใช่ที่รูปแบบ เพราะที่ทำมาก็มีตั้งแต่ฟอนต์เรียบง่ายทันสมัย คลาสสิค

เน้นการอ่าน ไปจนถึงตัวอาลักษณ์ที่มีรายละเอียดเยอะๆ แต่ที่ทุกๆฟอนต์มีคล้ายกัน

ก็คือ การตั้งต้นด้วยแนวคิดที่จะเอาโครงสร้างที่สนใจ หรือสิ่งที่สนใจส่วนตัวหลายๆอย่าง

ในขณะนั้นแล้วนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ด้วยความตั้งใจว่าอยากให้เกิดรูปแบบที่ต่าง

ออกไปจากที่เคยมีเป็นหลัก เช่น คราส (Krart) ซึ่งเป็นฟอนต์ดิสเพลย์ที่แปลงมาจาก

ตัวละตินก็เอาวิธีคิดเรื่องการกลืนกินของ positive-negative space ของการทำ

ตัวหนาบางผสมลงไป หรืออย่าง กรุณา (Karuna) ที่มีโครงสร้างหลักเป็นแบบ

เรขาคณิต ก็นำเส้นสายที่โค้งแบบออร์แกนิคมากๆ แทรกซึมผสมเข้าไป หรืออย่าง

จามรมาน (Charmonman) ที่เป็นตัวเขียนอาลักษณ์ก็เอาระบบของการซ้ำที่เป็น

อุตสาหกรรมที่ขัดแย้งมาเป็นแกนในกระบวนการทำงาน


footnote

pic.1

Lettering ที่สะท้อนการเคลื่อนที่ของลมและน้ำแบบธรรมชาติ

ในหนังสือ เพียงความเคลื่อนไหว ของ .เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


pic .2

ฟอนต์ละตินบางส่วนที่จัดจำหน่ายอยู่ที่ T26 และ Myfonts


pic.3

ตัวอักษรคำว่า "ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย"

ที่ออกแบบโดยการถอดรหัสจากโลโก้คำว่า "ไทย"

ที่ทาง Practical Studio ได้ทำไว้ และ ฟอนต์

KiriyaMarayart (กิริยามารยาท) ที่เป็นถูกใช้เป็น

ตัวเนื้อความของโครงการนี้ทั้งหมด