Wednesday, February 28, 2007

af ART - Corperate identity

Alliance Française International Art Centre
ศูนย์ศิลปะนานาชาติ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ


designed by B513DS!GN

สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้ทำการ
ปรับภาพลักษณ์องค์กร โดยเพิ่มส่วนที่เป็น International Art Centre
ที่ได้ทำการดูแลเกี๋ยวกับเรื่อง ศิลปะ และ สถาบันสอนศิลปะและออกแบบ
จากวิธีคิดในเรื่องของการรับรู้และจดจำ เพื่อให้เกิดง่ายต่อการรับรู้มากที่สุด
จึงคิดว่าชื่อที่ยาว น่าจะเหลือเพียงแค่ให้จำว่า af ART เมื่อพบเห็น logo นี้

การใช้ typography คำว่า ART ที่เป็นตัวบล๊อกแม่พิมพ์ ที่แสดงถึงความเป็น
สถาบันสอนศิลปะให้คนทั่วไปรู้จัก ART [ศิลปะ], AF ART คือ แม่พิมพ์ศิลปะ
การใช้ object ที่เป็นภาพในงานออกแบบ Logo จะทําให้มีความเฉพาะตัวสูง
เมื่อนําไปใช้งาน สามารถแสดงถึงแนวความคิดที่ใหม่ของสถาบัน
และไม่ดูจริงจังจนเกินไปนัก สำหรับการเรียนรู้ศิลปะสำหรับคนทั่วไป

สำหรับการใช้งาน ไว้มาต่อกันอีกทีนะครับ ช่วงนี้ยุ่งจริงๆ

Sunday, February 18, 2007

Good (Made with FontFont) Book

ได้หนังสือมาใหม่หนึ่งเล่ม เลยเอามานำเสนอ
อยากให้นักออกแบบที่สนใจเรื่อง font ได้ไปหาดูกัน



Made with FontFont
Type for independent minds.


by Jan Middendorp / Erik Spiekermann

To all type designers,
everywhere,
but above all to those
who trusted us to publish their work
and who, collectively,
have made this the coolest
type library I know.

Erik Spiekermann


To the memory of
Evert Bloemsma (1958-2005)
coleague, critic, and friend.

Jan Middendorp

ฟังจากคนเขียนขายไปแล้ว ลองมาฟังคนอ่านช่วยขายต่อบ้าง


--ความเป็นมาเป็นไปของตัวอักษรใใหม่ FF Meta สำหรับองค์กร
ในเยอรมันหากไม่ Helvetica ก็ไม่พ้น Univers หรือถ้าเป็นองค์กร
ที่ต้องการดูเป็นรูปแบบดั้งเดิม หนึ่งเดียวที่จะต้องถูกเลือกก็คือ
Times New Roman . . .
-Erik Spiekermann, 1985


--การผสมผสานของ Serif - Sans ใน Nexus typeface
ความเป็นมาของตัวอักษรแบบไร้เชิง ตั้งแต่
Akidenz Grotesk > Helvetica > Univers > Arial
Edward Jonhston's London transport > Gill Sans > Gill Sans Avec
Bauhaus movement > Futura . . .
-Martin Majoor, 2002-2005



--ประวัติของ FF DIN (the Deutsche Industrie Norm -
German Industrial Standard) อีกหนึ่งตัวอักษรร่วมสมัย ตั้งแต่ปี 1930
จาก รูปแบบ geometric construction ของแนวร่วม Bauhaus . . .
-Albert-Jan Pool, 2004-2005


--FF Zine family ชุดตัวอักษรครอบครัว สำหรับ Magazine
ตั้งแต่ Healine - Subhead - Body Text ด้วยวิธีการ
สร้าง Serif, Sans และ Slab Serif . . .
-Antje Dohmann, 2001


นี่เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น ยังมีตั้งแต่ font ของ Lucian Bernhard
ไปจนถึง FF Bau ของ Christian Schwartz
และในบทอื่นๆที่ พูดคุยกับ type designer และ
Font Specimens ของ ค่าย FontFont นี้อีกกว่าร้อยหน้า
ทำไมต้องขายของซะขนาดนี้ สงสัยคงต้องเปลี่ยนจาก designer
ไปเป็น Sales ซะแล้วมั้ง :)


(กำลังหา U&lc. Influencing design & typography อีกเล่ม
ข่าวว่า Asia Book จะเอาเข้ามา ไม่มีซะที !!)

Friday, February 9, 2007

จุดกำเนิดไอเดีย จากสารกระตุ้น




นิตยสาร สารกระตุ้น
No. 12 / Jan 07 / คอลัมภ์ จุดกำเนิดไอเดีย

เรียนรู้การประดิษฐ์ตัวอักษรไทยกับหนุ่มอักษร
นันทรัตน์ สันติมณีรัตน์


ไมเคิล ไรท์ นักคิดนักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ปักหลักอยู่เมืองไทย

มาเนิ่นนาน วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการที่คนไทยไม่ชอบอ่าน
หนังสือให้ฟังว่า เป็นเพราะตัวอักษรไทยมีรายละเอียดมากเกินไป 
การออกแบบก็ไม่ดี และเขียนติดจึงทำให้อ่านยาก เมื่อได้ยิน
อย่างนี้แล้ว เราคนไทยที่เห็นตัวหนังสือมาตลอดชีวิตก็ถึงกลับ
ต้องมานั่งขบคิดกันว่า มันเป็นจริงอย่างที่ฝรั่งเขาพูดกันหรือเปล่า

เราก็ได้แต่ คิดกันเล่นๆ เพลินๆเพราะไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับ
ตัวอักษร (font) สักเท่าไร แต่คุณเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช 
ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการออกแบบตัวอักษรมาตั้งแต่สมัยยัง
เรียนไม่จบ และมีตัวอักษรที่ออกแบบมากกว่า 20 แบบ 
เขาศึกษาศาสตร์ด้านนี้ที่เรียกว่า Typography อย่างจริงจัง 
และพยายามออกแบบให้ตัวอักษรไทยมีความหลากหลาย 
ซึ่งงานของเขามีให้เห็นตาม สูจิบัตรงานศิลปะต่างๆหรือ
บนนิตยสารบางฉบับที่ให้ความสำคัญกับเรื่องตัวอักษร

"ผมว่าบ้านเรายังใช้พวก font ต่างๆน้อยนะครับ 
ที่เห็นกันเยอะๆ ก็จะมีแค่ Cordia ตัวเดียวที่ใช้กัน
เต็มไปหมดเลย และคนที่เข้าใจหรือสนใจเรื่อง font 
ก็มีน้อย" คุณเอกเล่าให้ฟังถึงความเป็นไปของ
วงการออกแบบตัวอักษรไทย

ในเมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา 
กระทรวงพาณิชย์ และผู้ใหญ่ในวงการสิ่งพิมพ์อยาก
ให้เด็กรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของตัวอักษรไทยมากขึ้น 
จึงได้จัดการประกวดออกแบบตัวอักษรขึ้นมาในชื่อ
โครงการประกวดผลงานสร้างสรรค์โปรแกรม
คอมพิวเตอร์ฟอนต์ ซึ่ง font ที่คุณเอกลักษณ์
ออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้ง 2 แบบก็เป็นที่ถูกใจ
คณะกรรมการกันถ้วนหน้า



คุณเอกลักษณ์ตั้งชื่อตัวอักษรชุดแรกอย่างกวนๆว่า "ครับ"
ซึ่งเขาอยากให้ตัวอักษรชุดนี้สื่อถึงความสุภาพ เรียบร้อย 
และดูเป็นธรรมชาติ

การประกวดตัวอักษรมันก็คล้ายๆกับการประกวดนางสาวไทย
ซึ่งสวยอย่างเดียวคงไม่พอต้องมีบุคลิกที่โดดเด่นด้วย 
และยิ่งต้องทำให้แตกต่างจากคนอื่นมากที่สุด

"ตัวอักษรชุดนี้บุคลิกของมันคือหัวอักษรซึ่งปกติตัวอักษรทั่วไป
จะต้องมีหัวกลมๆแต่ อยากทดลองว่าถ้าเป็นแบบนี้ผู้ใหญ่
เขาจะว่าอะไรกันหรือเปล่า แต่ก็มีอาจารย์ที่เขาชอบอยู่เหมือนกัน"

การออกแบบ font ก็เหมือนการออกแบบโลโก้ ต้องมีการร่าง
หรือสเกตช์โครงสร้างขึ้นมาก่อน ซึ่งคุณเอกลักษณ์เริ่มสเกตช์
ตัวอักษรไปทีละตัว (อย่าลืมว่าตัวอักษรไทยมี 44 ตัวนะ! ) 
โดยเริ่มจากตัวที่มีสัณฐานก่อน เช่น บ ใบไม้ อ อ่าง และ
เมื่อทดลองไปได้สักพัก เขาก็เกิดความคุ้นเคยและ
เรียนรู้ทิศทางในการลากเส้น

"เมื่อได้ตัวอักษรบางตัวอย่าง เช่น ข ไข่ ก็จะทำให้ได้
ตัว ช ช้าง ด้วยหรือเมื่อได้ตัว ก ไก่ ก็จะได้ตัว ถ ถุงตามมา 
เพราะมันมีพื้นฐานและโครงสร้างคล้ายๆกัน"

ฟังดูแล้วเหมือนง่าย แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของขนาดตัวอักษร 
การลงน้ำหนัก และจังหวะในการวาดที่ต้องเท่ากันด้วย 
ซึ่งกว่าจะลงตัวกับอักษร "ครับ" คุณเอกลักษณ์ใช้เวลา
ตรวจสอบความเรียบร้อยและความถูกต้องทั้งหมดร่วม 2 เดือน



ส่วนอักษรชุด "จามรมาน" เป็นตัวอักษรที่ผู้สนับสนุนการประกวด 
คือ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน อยากได้เป็นของตัวเอง ซึ่งคุณเอกลักษณ์
ออกแบบขึ้นมาเป็นตัวอาลักษณ์ตามโจทย์ที่ได้รับมา

"เริ่มจากการศึกษาว่าตัวอาลักษณ์ที่แท้จริงมาจากไหน 
และมีลักษณะอย่างไร โดยการไปค้นหาเอกสารเก่าๆมาอ้างอิง 
และให้รุ่นน้องที่มีลายมือไทยๆ เชยๆ ช่วยเขียนเพื่อเป็นตัวอย่างให้ดูด้วย"

บุคลิกของอักษรชุด "จามรมาน" คือปลายหางที่สบัดออก และ
หัวอักษรกับตัวเส้นที่ไม่ตรงมาก ซึ่งคุณเอกลักษณ์ต้องอาศัย
ความประณีตในการประดิษฐ์ตัวอักษรตัวนี้มากๆ เพราะถ้า
ผิดพลาดแค่เส้นหนึ่งเส้น มันอาจจะกลานเป็นตัวอักษรแบบอื่นได้



คุณเอกลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังจนเข้าใจแจ่มแจ้งอีกว่า
เขาใช้โปรแกรม Illustrator ธรรมดาในการตกแต่งตัวอักษร
และเอาทั้งหมดเข้า fontlab ซึ่งคล้ายๆกับการออกแบบกราฟิกทั่วไป
แตกต่างกันตรงที่ต้องทำทั้งหมด 44 แบบ เท่านั้นเอง
(ยังไม่ได้รวม สระ และวรรณยุกต์เลย รวมทั้งเรื่องที่สำคัญกว่า
การออกแบบตัวอักขระ คือ การทำระยะระหว่างตัวอักษรแต่ละตัว 
เพราะการใช้งานของตัวอักษรไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน
เพียงตัวใดตัวหนึ่ง หรือชุดหนึ่งเท่านั้น)

งานออกแบบ font มันยากอย่างนี้นี่เอง บ้านเราจึงมีคน
ออกแบบ font น้อยเหลือเกิน แต่ถ้าใครอยากทดลอง
ทำอะไรที่แตกต่าง หรือชอบหาสิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเอง 
เราแนะนำให้ลองไปหาหนังสือเกี่ยวกับศาสตร์ Typography 
มาลองศึกษาดู เผื่อวันข้างหน้าจะได้มีตัวอักษรฝีมือตัวเอง 
ขึ้นโชว์ตามหน้าหนังสือที่วางขายทั่วบ้านทั่วเมือง 
หรือบนแผ่นพับใบปลิวให้ได้ภูมิใจกัน

Thursday, February 1, 2007

Helvetica Sans-serif again

Helvetica เป็น font แรกๆที่หลายคนน่าจะรู้จัก รวมทั้งผม
ผมรู้จักกับมันมากว่า 10 ปี ( ถ้าเทียบกับอายุของ helvetica เองแล้ว เออ...)
แต่ผมก็ไม่ได้ใช้งานมันมากว่า 5 ปี เท่าที่จำได้ จากกระแส Helveticamania
จากผู้ที่หลงไหลใน Swiss Style จนรู้สึกว่ามีแต่ Helvetica หรือไงกัน
(ถ้าเป็นฟอนต์ไทยคงเหมือนกับที่หลายๆคนเห็น กิติธาดา ในช่วงก่อนนี้)
แต่เวลาที่ผมต้องไปสอน แล้วเห็นนักศึกษาเลือกฟอนต์เหมือนไม่ได้เลือก
Helvetica ก็จะเป็นหนึ่งแบบตัวอักษรที่ผมจะต้องพูดถึงแทบจะหลายๆครั้ง

บทความนี้เกิดจากล่าสุด ที่ขณะกำลังตรวจศิลปนิพนธ์
โครงการออกแบบนิตยสารของนักศึกษาคนหนึ่งอยู่
แล้ว นศ.คนนั้นก็เลือกตัวอักษร Arial เป็น identity ของนิตยสาร
ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามถึง Helvetica ขึ้นมา
(นศ.เกิดอาการมึน จากอาการที่นิ่งไป ไม่แน่ใจว่า
ไม่รู้ว่ามันต่างกันยังไง หรือ ไม่รู้จัก มันเลยกันแน่
ทั้งที่เรายังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่อง สัญญะ (sign)
ความหมายแฝงที่สั่งผ่านอักขระนั้นๆ จากประสพการณ์
ของแต่ละบริบทของสังคมและบุลคลนั้นๆ )

แล้ว Arial กับ Helvetica มันต่างกันตรงไหน


Helvetica 1957 by Max Miedinger.


Arial 1982 by Robin Nicholas and Patricia Saunders.


แนะนำให้เข้าไปที่ web นี้ ก่อนที่จะอ่านต่อ // Arial or Helvetica Quiz

http://www.iliveonyourvisits.com/helvetica/#



helvetica is Red / Arial is Blue



ผมได้อ่านเจอ เรื่องความคาใจของฝรั่งคนหนึ่ง
(เกียวกับ 100 best typefaces ที่ผมได้เล่่าไปก่อนหน้านี้)
ว่า Helvetica ได้ที่ 1 แต่ Arial ทำไมไม่ติดแม้กระทั่ง 1 ใน 100
หรือเราจะต้องมาตั้งคำถามกันถึง Akzidenz Grotesk 1896 (อันดับ 7)
ที่ Helvetica ใช้คำว่า "Base on" มาและ Univers 1956 (อันดับ 10)
ที่ "influenced" มาจาก Akzidenz Grotesk กันด้วยดีมั๊ย

ผมไม่แน่ใจว่า นศ. คนนั้นหายมึนแล้วหรือยัง
แต่ เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ความต่างของระดับรายละเอียดระดับนี้
จะมีผลกับคนทั่วไป หรืออย่างน้อยก้สำหรับนักออกแบบกราฟิกทั่วๆไป
ที่จะทำการเลือกใช้ตัวอักษรให้เหมาะสมกับงานๆหนึ่งกันบ้างหรือเปล่า
ก็เป็นคำถามที่จะต้องตั้งเพื่อที่จะต้องทดลองศึกษาหาคำตอบกันต่อไป

Helvetica vs. Arial Game (click เพื่อกระโดดเหยียบ A...)
http://www.engagestudio.com/helvetica/
ปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ที่จริงจังไปเล่นเกมกันดีกว่า
เพื่อจะได้มีมุมมองต่อตัวอักษรในแง่มุมที่สนุกกับมันกันบ้าง :)