Monday, November 7, 2005

B513 ห้องเรียนไม่รู้จบ

กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย / จุดประกายโซไซตี้ / young society
จันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2548
คึกฤทธิ์ พลเยี่ยม



นอกจากที่อยู่แถวๆ ราษฏร์บูรณะ จะปรากฎอยู่บนนามบัตรของเขาแล้ว คำว่า Graphic & Type Designer ยังบอกให้รู้คร่าวๆว่า งานของเขาคือ กราฟฟิกดีไซน์และออกแบบตัวอักษร ถ้าให้เดา...สิ่งที่ทำให้เขาสนุกกับงานน่าจะเป็นคำที่ระบุเอาไว้ว่า Independent

และ B513DS!GN เป็นแบบตัวอักษรขนาดใหญ่ที่สุด ที่วางตัวอยู่บนนามบัตรสีเทาใบนั้นของ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช เขาคลายความสงสัยถึงที่มาที่ไปของถ้อยคำนั้นว่า หมายถึง สถานที่แห่งหนึ่ง เป็นเบอร์ตึกเบอร์ห้องของคอนโดที่เขาใช้พักพิง ในครั้งที่เคยรวมตัวรวมหัวกับกลุ่มเพื่อนรับทำงานกราฟฟิกดีไซน์เขาจึงไม่อยากใช้ชื่อออกไปเดี่ยวๆแต่พอใช้ไปใช้มามันกลายเป็นชื่อที่ระบุถึงตัวเขาคนเดียวไปโดยปริยาย

"ผมว่ามันก็โอเคนะ งานกราฟฟิกดีไซน์ อาจเพราะผมทำหลายๆอย่างมีช่วงเปลี่ยนของชีวิตเยอะเหมือนกัน อย่างตอนแรกผมเคยทำออฟฟิศมาแล้ว แล้วก็มาเป็นฟรีแลนซ์ รับงานจากเอเจนซี อย่างของบีบีดีโอ หรือ ลีโอ เบอร์เนทท์ ผมว่าน่าจะเป็นชื่อที่โอเคเป็นบริษัทในระดับต้นๆก็เคยทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นจะผ่านงานมาหลากหลายสารพัด บางทีเจองานฮาร์ดเซลส์มากๆ มันไม่มีเวลาให้เราคิด ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากทำ พอมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วเหมือนมันเลือกได้มากกว่า พอลูกค้าคุยกันยาก ก็พยายามเลี่ยงๆไป ผมว่ามันอยู่ได้นะอาชีพนี้ ถ้าไม่เบื่อไปซะก่อน"

ช่วงเปลี่ยนที่เค้าพูดถึง ตอนสำคัญอีกจังหวะ ก็คือ การได้เข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ นั่นคือส่วนที่เขาบอกว่า มันหล่อเลี้ยงความคิดอ่านให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

"ผมสอนอยู่ 2 วิชา คือ Basic Visual Computing เป็นวิชาที่คล้ายๆกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เมื่อก่อนวิชาพวกนี้จะสอนตอนปี 3 เหมือนที่ ม.กรุงเทพ เขาคิดใหม่ว่า เด็กน่าจะทำเป็นตั้งแต่ปี 1 อีกตัวก็คือ Computer for Communication Design คล้ายๆ ว่าคนทำกราฟฟิกดีไซน์หลายๆคน จบงานไม่ค่อยเป็น ก็จะสอนให้รู้ทั้งหมด การเตรียมไฟล์ การเจองานประเภทต่างๆต้องทำอะไรบ้างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การแปลงไฟล์ การทำอี-บุ๊ค เอานวัตกรรมใหม่ให้เขารู้ก่อนออกไปเจอข้างนอก เลยได้เอาเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ที่เราเจอทุกวัน เจอปัญหา มาใช้ในการสอน"

อาจารย์เอก เล่าว่า งานสอนเป็นอีกความรู้สึกของการทำงาน ไม่ต้องตั้งตนอยู่บนกฎเกณฑ์จนเกินไปนัก ให้ความอีสระในการคิด-ทำ ค่อนข้างสูง "ทำให้ผมรู้สึกสนุกได้ตลอด ทำให้ได้คิดโจทย์ใหม่ๆ ต่อให้ผมทำงานข้างนอกได้ลูกค้าดีๆ อาจไม่ได้คิดอะไรหลุดๆแบบนี้ มันสนุก มันทำให้เรามีไฟในการที่จะทำแบบนี้ต่อไป รวมทั้งมีไฟออกไปทำงานของเราเอง ผมเห็นเพื่อนในรุ่นเดียวกัน เริ่มเหนื่อยกับชีวิต คือเจองานซ้ำๆเขาอาจหยุดที่จะเรียนรู้ กลายเป็นว่าทำงานเก็บตังค์ สร้างครอบครัว ไปโฟกัสเรื่องอื่นๆแทนที่จะศึกษาต่อไปเรื่อยๆ

ผมจะมองอะไรรอบๆตัว มองสังคม ช่วงนี้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานกราฟฟิก แล้วค่อยดึงประเด็นเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ มนเลยทำให้เราต้องคอยดู คอยตามอยู่ตลอด ผมว่ามันมีโจทย์อยู่รอบๆตัว เพียงแต่เราจะดึงอะไรขึ้นมาหรือเปล่า เหมือนเราได้เรียนอยู่เรื่อยๆ ถือว่าเป็นข้อดีที่เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้"

เอก บอกเล่าถึงงานสอนอย่างออกรสว่า พื้นฐานคือต้องสอนให้เด็กทำได้ตามหลักสูตรแต่ระหว่างทางนั้นมีความท้าทายในใจทย์ที่เขาตั้งขึ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ตีความ ก่อนจะโยงมายังเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ อย่างในช่วงหนึ่งที่ป้ายทั่วเมืองกรุงเทพๆข้างรถโดยสารประจำทาง มีรูปธงชาติไทยผืนใหญ่ ติดอยู่กับถ้อยคำที่ว่ารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เขาตั้งคำถามแล้วมาส่งต่อให้เด็กสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองโดยมีอาจารย์คนนี้คอยแนะนำหรือย่างเรื่องหอศิลป์กรุงเทพเขาก็ให้นักศึกษาคิด-ออกแบบหอศิลป์ที่เขาอยากได้ นอกจากเป็นการกระตุ้นต่อมสร้างสรรค์แล้วยังได้ผลงานตามหลักสูตรอีกด้วย

นอกจากงานสอนที่ ม.กรุงเทพแล้ว เขายังเปิดคอร์สอยู่ที่สมาคมฝริ่งเศส สอนเกี่ยวกับ Type Design เป็นงานอีกภาคส่วนที่เขารู้สึกท้าทายและทุ่มเทซึ่งการออกแบบตัวอักษรหรือตัวพิมพ์ (Font) ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่เขาเริ่มกระโดดโลดเต้นลงไปอย่างนักทดลองหน้าใหม่ และกำลังจะมีแบบตัวอักษรของตัวเองวางจำหน่ายเขามองว่าตัวแรกนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับตัวต่อๆไป แต่จุดเริ่มต้นที่ว่าเขาวาดหวังต่อไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะอาชีพ ไทป์ดีไซน์ หรือคนทำฟอนต์ ยังถูกมองข้ามความสำคัญจากสังคมไทย "คงต้องขอรอดูก่อน" เขาว่าอย่างนั้น

นอกจากงานกราฟฟิกดีไซน์ งานสอน งานออกแบบตัวอักษร เอายังมีอีกงานคือโปรดักท์ดีไซน์ เบาบอกว่ามันเป็นหลายๆส่วนเอื้อหนุนกัน ทั้งยังเป็นการรองรับอนาคต

แล้วยังมีอะไรอีกบ้างที่หนุ่มคนนี้อยากทำ "จริงๆสิ่งที่อยากทำ มันกำลังอยู่ในระหว่างทำมากกว่า อย่างงานสอนที่สมาคมฝรั่งเศส เป็นเหมือนที่เรียนพิเศษ อาจเป็นได้ว่าเด็กที่มาเรียน ไม่ได้เรียนศิลปะมา ไม่ได้เรียนกราฟฟิกมา เขาอยากรู้เรื่องไทป์ อยากทำฟอนต์เป็น เราก็ได้เห็นอีกวิธีคิดหนึ่ง ตัวอักษรมันเป็นงานที่เราเห็นอยู่รอบตัว หัดเขียน ก.ไก่ มาตั้งแต่เด็ก อย่างผมทำฟอนต์ ก็เอามาใช้กับงานตัวเองอยู่แล้ว คนทำกราฟฟิกอาจจะตั้งตันความคิดว่า จะเอามาใช้งานยังไง แต่เด็กเหล่านี้เขาอาจจะว่างเปล่ามาเลย เราก็จะได้เห็นวิธีคิดของเขา ผมว่ามันน่าสนใจ"

"ยอมรับว่าผมไม่ได้วางแผนอนาคตอะไรไว้เลย มันมีอะไรหลายอย่างให้ทำมาก ซึ่งผมว่าน่าจะมีความสุขกว่าทำอย่างเดียว มีหลายๆ ส่วนแบ่งกันไป ทำได้เรื่อยๆ อีก 10 ปี ก็ยังไม่เบื่อ"

ฟังแล้วรู้สึกอิจฉาผู้ชายคนนี้ขึ้นมาแล้วสิ เขาออกตัวว่า นับเป็นความโชคดีที่มีโอกาสเปิดให้และเขาเองก็พร้อมจะหยิบฉวยโอกาสนั้นไว้เพราะโอกาสมันมีเสมอ แต่ไม่ได้มีให้ทุกคนทุกครั้ง ทั้งยังโชคดีที่ได้เจอผู้คนที่มีอะไรมาแบ่งฝันปันเปลี่ยนกัเสมอ ในฐานะนักเดินทางเหมือนกัน

บางทีจุดหมายที่ตั้งไว้ 10 ปีข้างหน้า อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับ เมื่อเปิดประตูออกจากห้องแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวระหว่างทางนั้นบ้าง