Monday, January 5, 2004

Experimental Typeface



































โดย สำเร็จ จารุอมรจิตต์

เมื่อปี 2541 เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช เป็นนักศึกษาภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งในหลักสูตรการศึกษากําหนดให้ เขาต้องทำโครงการออกแบบนิเทศศิลป์ เขาเลือกทําโครงการออกแบบตัวอักษร ซึ่งต่อมาภายหลังตั้งชื่อว่า ขบถ เป็นที่สนใจและ ได้รับการชื่นชมในผลงานออกแบบที่แหวกไปจากขนบเดิมของการออกแบบตัวอักษร ในประเด็นการอ่านง่าย (legibility) ด้วยเส้นแบ่งก้ํากึ่งระหว่าง การอ่านได้ (readability) กับการอ่านง่ายของแบบตัวอักษร ขบถ เรียกความฮือฮาได้ไม่น้อย ผลที่เกิดขึ้นนี้ เขาได้อธิบายว่า

“บทบาทหน้าที่ของตัวอักษร คือการสื่อสารโดยผ่านกระบวนการรับรู้ทางตา เพื่อรับภาพที่เป็นทัั้งเนื้อความและรูปลักษณ์สื่อความหมายต่างๆที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อ รูปลักษณ์ของตัวอักษรจึงมีหน้าที่เป็นตัวกำหนดความหมายของแบบตัวอักษรนั้นๆ ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ โดยทั่วไปการออกแบบตัวอักษรจึงมักให้ความสำคัญหรือเริ่มต้นจาก การออกแบบรูปลักษณ์เป็นอันดับแรก

งานออกแบบตัวอักษร ขบถเร่ิมต้นจากความต้องการในการออกแบบตัวอักษรที่แตกต่างออกไป ขบถจึงเป็นงานออกแบบตัวอักษรที่ต้องการทดลองปฏิวัติแนวความคิดที่ว่า การออกแบบตัวอักษรเริ่มจากรูปลักษณ์ จึงคิดหาวิธีการที่จะออกแบบโดยไม่เร่ิมจากรูปลักษณ์อันมองเห็นด้วยตา

การเริ่มต้นทํางานจึงทําการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แล้วพบว่า มีภาษาอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าทึ่งมากๆ คือ ภาษาการรับรู้รูปอักษรของคนตาบอด ที่มีีรูปแบบลักษณะภาษาเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว เฉพาะคนกลุ่มๆหนึ่ง เช่น อักษรเบรลล์ โดย หลุยส์ เบรลล์ ได้พัฒนามาจากระบบโซโนกราฟี หรือที่เรียกระบบการสื่อสารนี้ว่า “อักษรกลางคืน” ของนายร้อยชาร์ลส์ บาร์บิเอร์ ที่ใช้ในวงการทหาร มีลักษณะจุดนูนเพื่อง่ายต่อการสัมผัสมากที่สุด โดยหลุยส์ได้พัฒนาจนเหลือจุดนูนเพียง 6 จุด ที่มีลักษณะเหมือนโดมิโน ซึ่งสามารถจัดเรียงได้ถึง 36 รูปแบบไม่ซ้ํากัน อีกแหล่งหนึ่งคือ อักษรมูน โดย ดร.วิลเลี่ยม มูน ที่มีลักษณะของตัวอักษรที่นูนพัฒนามาจากโครงสร้างพื้นฐานของ ตัวอักษรโรมันหรือเรียกอีกอย่างว่าละติน นํามาดัดแปลงตัดทอนรายละเอียดให้ง่ายต่อการสัมผัส ความแตกต่าง ของตัวอักษรสองแบบนี้คือ ระบบการจดจำ อักษรเบรลล์เหมาะสำหรับผู้ที่ตาบอดตั้งแต่เกิด ส่วนอักษรมูนเหมาะ สำหรับผู้ที่เคยตาดีมาก่อนซึ่งรู้ว่าตัวอักษรแต่ละตัวมีโครงสร้างอย่างไร

ขบถ ได้รับการออกแบบโดยคํานึงถึงหลักสองข้อนี้ หนึ่ง คือสิ่งที่สื่อถึงตัวอักษรนั้นอย่างเรียบง่ายที่สุด กับ สอง ระบบการรับรู้ต่อตัวอักษรไทย

ผลที่เกิดขึ้นคือ ขบถ มีลักษณะเด่นของหัวอักษร ที่เป็นจุดทึบคล้ายลักษณะของอักษรเบรลล์ กับเส้นที่ตัดทอนให้พอเพียงเมื่อประกอบกันเป็นคํา ส่ิงที่คิดต่อไปเมื่อเข้าสู่กระบวนการทําเป็นตัวพิมพ์ คือรูปลักษณะที่คล้ายกับโน๊ตดนตรีเมื่อประกอบเป็นประโยค ซึ่งสามารถโยงไปถึงการรับรู้อีกประเภทหนึ่ง คือ การได้ยิน

สิ่งที่ได้จากการออกแบบเชิงทดลอง คือ ขบถ เป็นการทำงานออกแบบตัวอักษรที่มีจุดเริ่มจากวิธีการที่แตกต่าง อันนำไปสู่รูปแบบที่แตกต่าง ระหว่างการทดลองก็พบสิ่งที่น่าสนใจคือรูปร่างเพื่อการสัมผัสที่มีจุดนูน มีพื้นที่ที่ชัดเจน (อักษรเบรลล์) สามารถสร้างความจดจําทางจักษุสัมผัสได้ชัดเจนเช่นกัน (หัวตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่)

บทสรุปของตัวอักษรขบถ "แม้จะเป็นการออกแบบด้วยวิธีการใหม่ แต่กฎของความเป็นตัวอักษรคือ ตัวอักษรต้องสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังเป็นกฎที่ผมให้ความสําคัญ และคํานึงถึงเสมอเมื่อออกแบบตัวอักษรตลอดมา นี่เป็นสิ่งที่ย้ําให้ผมตระหนักว่า ถ้าเราเข้าใจตัวอักษรนั้นได้มากเท่าไร เราก็สามารถออกแบบตัวอักษรได้หลายหลายมากเท่านั้น"

No comments: